top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

จิตวิทยาอธิบาย : ทำไม "คนดี" จึงทำเรื่องเลวร้ายได้

เวลาที่นักข่าวไปสัมภาษณ์คนรู้จักของคนร้ายในคดีต่าง ๆ เรามักจะได้ยินประโยคขัดใจ ที่ว่า “เขาเป็นคนดี” ใช่ไหมคะ แล้วถ้าดีจริงจะไปทำเรื่องเลวร้ายได้อย่างไร เรื่องนี้จิตวิทยามีคำตอบค่ะ ในการที่คนรู้จักหรือคนใกล้ชิดของผู้ต้องหา หรือคนร้ายในคดีรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทำร้ายร่างกาย ฆ่าคน จี้ ปล้น ข่มขืน แต่ยังออกมาบอกผ่านสื่อว่า “ลูกฉันเป็นคนดี ไม่มีทางทำแบบนี้แน่นอน” ไม่ใช่เพราะพ่อและแม่เขาปิดหูปิดตา แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่รู้จักผู้ต้องหาหรือคนร้ายดีพอนั่นเองค่ะ ซึ่งคุณสามารถสังเกตได้จากหลายเหตุการณ์ข่าวที่พอเกิดเรื่องที คนเป็นพ่อแม่ หรือแม้แต่สามี ภรรยา ที่ใช้ชีวิตด้วยกันแทบจะตัวติดกัน ยังไม่รับรู้เลยว่าคนใกล้ชิดของตัวเองเป็นผู้ก่อเหตุ


ในทางจิตวิทยา สามารถนำทฤษฎีของ Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิทยาสายจิตวิเคราะห์มาอธิบายได้ค่ะ ว่า การที่คนดีในสายตาเรา แต่ทำไมไปทำเรื่องเลวร้ายที่อื่นได้ ก็เพราะเขาแสดงตัวตนตามโครงสร้างทางจิตให้เราเห็นเพียงบางส่วนนั่นเอง โดยโครงสร้างทางจิตตามทฤษฎีจิตวิทยาของ Freud บอกไว้ว่า จิตใจคนเราประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน ได้แก่


1. อิด (Id) คือ แรงผลักดันในจิตใจที่ขับเคลื่อนด้วยสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงความต้องการของร่างกาย ความปรารถนาทางเพศ และแรงกระตุ้นความก้าวร้าว


2. อีโก้ (Ego) คือ บุคลิก หรือพฤติกรรมที่เราแสดงออกมา โดยเป็นผลมาจากการรักษาสมดุลระหว่าง Id และ Super Ego


3. ซูเปอร์อีโก (Super Ego) คือ จิตสำนึก หรือ จิตใจใฝ่ดีที่ควบคุมการทำตามความต้องการของ Id ซึ่งการแสดงบุคลิก หรือพฤติกรรมตามโครงสร้างทั้ง 3 ส่วน นั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู การเลียนแบบ การเรียนรู้ ฐานะ หน้าที่การงาน นั่นหมายความว่า คน ๆ หนึ่งสามารถมีบุคลิกหรือแสดงพฤติกรรมได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในชีวิต หรือ ความรู้สึกปลอดภัยในการแสดงตัวตน เช่น ในกรณีที่มีข่าวว่าครูข่มขืนลูกศิษย์ของตัวเอง แต่ภรรยา ญาติ รวมถึงเพื่อนครูกลับไม่รู้เรื่อง และยังมีเพื่อนครูบางคนออกมาปกป้องอีก นั่นก็เพราะเมื่อเขาอยู่ในสถานะสามี/พ่อของลูก และครู เขามีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรม หรือบุคลิกที่มี Super Ego สูง รักลูก รักภรรยา ทำงานเก่ง แต่เมื่ออยู่กับเพื่อนฝูงคอเดียวกัน ในสถานที่ที่เขารู้สึกปลอดภัย เขาก็ปลดปล่อย Id ออกมาอย่างเต็มที่ เป็นต้น


อย่างที่ Freud บอกละค่ะ โลกนี้ไม่มีใครดีบริสุทธิ์ 100% และไม่มีใครเลวจากกมลสันดาน มีแต่คนเทา ๆ จะเทามาก เทาน้อยก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการควบคุมตัวเอง ไม่แน่หรอกค่ะว่าวันหนึ่งที่เมื่อเราถูกสถานการณ์กดดันบีบบังคับ หรือต้องต่อสู้กับคนที่เทากว่า หรือต้องปกป้องคนที่รัก เราอาจจะตัดสินใจให้โครงสร้างทางจิตในส่วนของ Id ออกมาทำงานมากกว่า Super Ego ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าหากเราสามารถพัฒนา Super Ego ให้เข้มแข็ง มันก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ยังทำให้ชีวิตเราปกติสุขแม้จะถูกรบกวนจิตใจจากสิ่งใด ๆ ก็ตาม และคงทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นนะคะ ดังนั้น ดิฉันจึงได้นำวิธีการพัฒนาโครงสร้างทางจิตในส่วนของ Super Ego ให้เข้มแข็ง ด้วย 2 แนวทาง ที่ทำได้ง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ


1. รู้เท่าทันความคิดของตัวเอง


“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” แต่หากคุณกำลังจะเอาชนะจิตใจตัวเอง การรู้เท่าทันตัวเอง เป็นทางหนึ่งที่เราจะสามารถพัฒนา Super Ego ได้ค่ะ โดยวิธีการก็คือ การฝึกสติ หรือในทางจิตวิทยา เรียกว่า "Mindfulness"


1.1. การฝึกสมาธิ ซึ่งการฝึกสมาธิมีหลากหลายรูปแบบค่ะ แต่พวกเราคุ้นเคยก็มีการกำหนดลมหายใจ หลับตา นั่งสมาธิ หรือการ Focus ไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น เข็มนาฬิกา การนับลูกปัดในประคำ/สร้อยคอ การปล่อยวางจิตใจให้สงบไปกับเพลงบรรเลง เพลงคลาสสิค หรือ การใช้เกมใน application ต่าง ๆ ที่ต้องใช้การจดจ่อ และความใส่ใจสูง ก็สามารถช่วยได้ค่ะ


1.2. การสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของตัวเองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น การรับรู้ การเคลื่อนของลมหายใจจากจมูก เข้าทรวงอก และออกจากทรวงอกสู่จมูก หรือการรับรู้อารมณ์ ณ ปัจจุบันของตนว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร ต่อสิ่งใด


นอกจากนี้ ยังมีอีกแนวทางในการฝึกการรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง เพื่อพัฒนา Super Ego ก็คือ การฝึก self-control ค่ะ มี 2 วิธี ได้แก่


1.3. การควบคุมอารมณ์ทางลบของตัวเอง ซึ่งมี 2 แบบ คือ (1) ในกรณีที่พาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์ทางลบได้ ขอให้รีบพาตัวเองออกมา และ สงบสติอารมณ์ ด้วยการควบคุมลมหายใจ หรือผ่อนคลายความรู้สึกค่ะ และ (2) ในกรณีที่ไม่สามารถออกมาจากสถานการณ์นั้นได้ ใช้วิธีการควบคุมลมหายใจ และใช้วิธีการผ่อนคลายเข้ามาช่วยนะคะ เช่น การใช้จินตนาการถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกดี การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้นค่ะ


1.4. การยอมรับผลจากสิ่งที่เราตัดสินใจเลือก เช่น หากเราเลือกที่จะฝ่าไฟแดง เราก็ต้องยอมรับโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องเสียค่าปรับ ซึ่งเมื่อเราสามารถยอมรับผลประโยชน์ และข้อเสียจากสิ่งที่เราเลือกได้ เราจะหัวร้อนน้อยลง หงุดหงิดน้อยลง และใช้ Id น้อยลงในกรณีที่เกิดผลเสียขึ้นมา



2. การเอาใจเขามาใส่ใจเรา


ในการที่เราจะเป็นคนที่มี Super Ego เข้มแข็งได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องมี คือ การรู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกว่า “Empathy” วิธีการพัฒนาก็สามารถทำได้โดย


2.1. ลดเงื่อนไขในการรัก ไม่ว่าจะเป็นรักเพื่อนร่วมโลก รักสัตว์ รักน้ำ รักปลา รักษ์โลก หากเป็นความรักในเชิงบวก คือ ปรารถนาดี เกิดขึ้นเพราะความเมตตา ปราณี ก็ขอให้ “รัก” ไปเถอะค่ะ อย่าได้กังวลว่า “รัก” ที่เราให้ไปจะได้อะไรตอบแทน แต่ขอให้เป็นรักที่มีเหตุผล และมีสตินะคะ


2.2. รู้จักการให้ ทั้งการให้สิ่งของ ให้ความช่วยเหลือ รวมไปถึงการให้โอกาส และการให้อภัย ซึ่งทุกการให้ยิ่งใหญ่ต่อผู้ได้รับเสมอค่ะ หากคุณผู้อ่านเห็นโอกาสที่เราสามารถ “ให้” สิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่ใคร หรือสิ่งใด ๆ ได้ ได้โปรด “ให้” เถอะค่ะ เพราะทุกการให้ แม้จะเล็กน้อยเพียงใด จะยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของผู้รับเสมอ


2.3. จะทำอะไรขอให้คิดถึงคนอื่นไว้บ้าง ในทุกการกระทำของเรา ขออย่าคิดว่ามีผลแค่เราคนเดียว เพราะทุกการกระทำมักจะส่งผลถึงคนรอบข้างอย่างไม่รู้ตัวค่ะ เพราะฉะนั้นขอให้คิดให้ดีก่อนจะลงมือทำอะไร โดยเฉพาะหากเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่ค่ะ


2.4. ยืดหยุ่นบ้าง โลกนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียวค่ะ ดังนั้นอะไรที่ยอมได้ก็ยอม แพ้บ้างก็ได้ หากชนะแล้วไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่จะเสียไป ช่างมันวันนี้ เพื่อให้ได้บ้างสิ่งที่ล้ำค่ากว่ากลับมาในวันหน้าค่ะ


2.5. เปิดใจให้กว้าง โลกเปลี่ยนแปลงทุกวินาทีค่ะ เพราะฉะนั้นขอให้เปิดตาให้ไกล และเปิดใจให้กว้าง แล้วเราจะได้เรียนรู้อะไรมากมายค่ะ


สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “5 วิธีสอนลูกให้มี Empathy ตามคำแนะนำนักจิตวิทยา


ดิฉันเชื่อว่าเราทุกคนไม่มีใครอยากเป็นคนเลว และแน่นอนค่ะว่า ถึงแม้ว่าเราก็ไม่สามารถเป็นคนดีแบบขาวสะอาดได้ในทุกสถานการณ์ แต่อย่าไปเพิ่มความยาก ด้วยการทำเรื่องเลวร้ายกับคนอื่นเลยดีกว่าค่ะ หวังว่าวิธีการพัฒนา Super Ego ที่ได้แนะนำไป จะเป็นประโยชน์นะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 5 ปี

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page