top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 เคล็ดไม่ลับปรับพฤติกรรมเด็กไม่ให้แกล้งเพื่อน


เด็กโดนแกล้ง

ในบทความที่แล้ว เราได้พูดถึงการรับมือกับการถูกแกล้ง ดังนั้น สำหรับบทความนี้ผู้เขียนจะขอนำคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองไปรู้จักวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมแกล้งเพื่อนกัน เด็กส่วนมากที่ชอบแกล้งเพื่อนนั้นมีจุดประสงค์ในการแกล้งเพื่อ “เรียกร้องความสนใจ” ทั้งจากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองเอง หรือจากคุณครู หรือจากเพื่อนที่ตัวเองแกล้งนั้นแหละ แล้วทำไมเด็กเหล่านั้นต้องใช้วิธีแกล้งในการเรียกร้องความสนใจด้วยละ? นั้นก็เพราะตอนที่เด็กๆมีพฤติกรรมปกติไม่มีใครสนใจ แต่พอเด็กแสดงพฤติกรรมเกเร คือ แกล้งเพื่อน เด็กจะได้รับความสนใจจากบุคคลเป้าหมาย ถึงแม้ว่าการแสดงความสนใจนั้นจะออกมาในรูปแบบของการดุด่า ทำโทษ ประจาน ก็ตาม แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการมีตัวตนในสายตาคนสำคัญของเขา ถึงแม้ว่าจะถูกตอบสนองในเชิงลบดังเช่นที่ยกตัวอย่าง แต่ก็ดีกว่าที่เขาจะเป็นอากาศ ไร้ตัวตนในบ้าน ในโรงเรียน หรือในกลุ่มเพื่อน ดังนั้น สิ่งที่เด็กๆเหล่านี้เลือกทำ จึงออกมาในเชิงลบ คือ การแกล้งเพื่อน และจากผลทางสถิติพบว่าต่อให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู หรือเพื่อนของเด็กเฉยเมย ไม่ตอบสนองต่อพฤติกรรมของเด็กแล้ว เด็กจะยังคงแสดงพฤติกรรมทางลบนั้นอยู่ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในลูกๆหลานๆของเรา ผู้เขียนจึงขอเสนอวิธีการป้องกันเบื้องต้นไม่ให้ไปแกล้งคนอื่น ซึ่งเป็นข้อมูลที่สรุปมาจากงานวิชาการต่างๆ ดังนี้ 1. เปิดใจพูดคุยกับเด็กเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการแกล้ง เมื่อเด็กแกล้งเพื่อน ก่อนที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู จะดุด่า ทำโทษเด็ก ขอให้สงบสติอารมณ์ลงสักนิด แล้วลองเปิดใจพูดคุยกับเด็กว่าเพราะเหตุใดเขาถึงทำพฤติกรรมแบบนี้ โดยใช้การสังเกตในสิ่งต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น เด็กมีความตั้งใจที่จะทำให้เพื่อนไม่สบายใจหรือเสียใจหรือไม่ เด็กมีความรู้ตัวขณะกระทำหรือไม่ เด็กมีปัญหาที่บ้านหรือโรงเรียนไหม เวลาอยู่ที่บ้าน หรือที่โรงเรียน เด็กมีความรู้สึกอย่างไร รู้สึกเหงา ถูกทอดทิ้ง โดดเดี่ยวหรือไม่ เด็กเลือกแกล้งเฉพาะบุคคลหรือเปล่า เป็นต้น และเมื่อเด็กเปิดใจอธิบายถึงปัญหา คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูจึงค่อยหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกับเด็ก 2. ตอบสนองต่อเด็กเฉพาะพฤติกรรมเชิงบวก เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมใดๆก็ตามที่เป็นเจตนาดี หรือมีผลดี เช่น ทำการบ้านด้วยตนเอง ตื่นตรงเวลา พยายามช่วยเหลือตนเองโดยไม่ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ เมื่อเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ชมเชยเด็กอย่างจริงใจ และหากเป็นการทำความดีที่ยากลำบาก เช่น ช่วยเหลือเพื่อน ช่วยผู้สูงอายุ ช่วยทำงานบ้าน หรือสอบได้คะแนนดี ขอให้ตอบแทนน้องด้วยรางวัลที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าบางอย่างจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เชื่อหรือไม่ว่าการละเลยความสนใจเรื่องเล็กน้อยจะนำการแกล้งเพื่อน จนนำไปสู่การสร้างยุวอาชญากรรมได้เลยทีเดียว

3. สอนให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ โดยก่อนอื่นเลยต้องสอนให้เด็กรู้จักอารมณ์ตนเอง ณ ขณะนั้น และคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองต้องอนุญาตให้เด็กแสดงอารมณ์ตามที่เขารู้สึกด้วย เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่านี่คือการแสดงออกจากความโกรธ นี่คือการแสดงออกจากความกลัว หรือนี่คือการแสดงออกจากความรัก เป็นต้น เมื่อเด็กได้เรียนรู้เรื่องอารมณ์แล้ว คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจึงค่อยสอนให้เด็กควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะกับอารมณ์ทางลบ เช่น หากรู้ว่าโมโหให้เดินออกจากสถานการณ์ตรงนั้น หรือสอนให้ควบคุมลมหายใจโดยนับ 1 – 10 หรือสนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรมที่ได้ปล่อยพลัง ได้แก่ การเล่นกีฬา เพื่อลดพลังงานในตัวลง และไม่แกล้งเพื่อนเพื่อระบายอารมณ์กับผู้อื่น เป็นต้น 4. สอนลูกให้รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป ความรับผิดชอบนั้นสามารถฝึกให้กับเด็กๆได้ตั้งแต่เด็กๆรู้ความผ่านทางการทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น เมื่อเล่นของเล่นเสร็จต้องเก็บเข้าที่เดิม การจัดตารางกิจวัตรประจำวันให้แก่เด็กๆ การมอบหมายภารกิจช่วยเหลือผู้อื่นที่เหมาะสมตามวัย เช่น ช่วยทำงานบ้าน ช่วยดูแลน้อง ช่วยดูแลผู้สูงอายุในบ้าน เป็นต้น เมื่อเด็กได้รับการปลูกฝังความรับผิดชอบ เด็กจะคิดถึงผลของการกระทำของตนเสมอ และการแกล้งเพื่อนนั้น จะไม่เกิดกับเด็กที่มีความรับผิดชอบแน่นอน 5. ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก หัวข้อนี้ พูดง่ายๆก็คือ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองต้องไม่เป็นคน ขี้แกล้ง เสียเอง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กๆกลายเป็นคนชอบแกล้งเพื่อน คือ การที่เด็กเข้าใจว่าการแกล้งเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กๆถูกแกล้งโดยผุ้ใหญ่ในบ้านเป็นประจำ การแกล้ง ณ ที่นี้ รวมไปถึงการล้อเลียน การทำในสิ่งที่เด็กไม่ชอบ การทำให้เด็กอับอาย ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง จะเล่นกับเด็ก หรือแกล้งขำๆ ขอให้คำนึงถึงความรู้สึกของเด็ก และพฤติกรรมเลียนแบบที่อาจเกิดขึ้นตามมาด้วย หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองได้ลองนำวิธีการสอนเด็กๆที่แนะนำข้างต้นไปปรับใช้กับลูก ๆ หลานๆ ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าจะสามารถลดการกลายเป็นเด็กขี้แกล้งของลูกๆหลานๆเราอย่างแน่นอน

 

เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา


iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า


 

อ้างอิง 1. Plook Parenting. 7 มกราคม 2560. ลูกชอบแกล้งเพื่อน จะปรับพฤติกรรมอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2560 จาก http://www.trueplookpanya.com

2. อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ และพรพิมล นาคพงศ์พันธุ์. 25 มิถุนายน 2014. ช่วยลูกไม่ให้แกล้งคนอื่น. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2560 จาก https://www.facebook.com/Growingupnormal/posts/295644730616901:0

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page