top of page

Hikikomori : ภัยเงียบทำร้ายครอบครัว

Updated: Feb 18


จากข่าวสะเทือนใจ และเป็นเคสจิตวิทยาครอบครัวที่น่าหดหู่ใจ ที่ลูกชายวัย 16 ปี ใช้มีดปลายแหลมทำร้ายแม่แท้ ๆ ถึง 12 แผล ถึงแม้ว่าแม่จะปลอดภัย ลูกชายจะสำนึกได้ และแม่ให้อภัยกับสิ่งที่ลูกชายทำ แต่ก็ว่ากันไปตามกฎหมายนะคะ ซึ่งเมื่อตามอ่านข่าวที่สัมภาษณ์แม่และลูกชายถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ก็พบว่า สาเหตุไม่ได้มาจากการทะเลาะเบาะแว้ง แต่เกิดมาจากความรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” ของลูกชาย ที่โดยปกติใช้ชีวิตอยู่กับยายอายุ 70 ปี โดยแม่อายุ 34 ปีไปทำงานต่างประเทศ แต่ลูกชายมีปัญหาพฤติกรรม คือ ไม่เรียน ติดเกม มีพฤติกรรมแยกตัว ไม่เข้าสังคม ด้วยความเป็นห่วง แม่จึงกลับมาอยู่ด้วย แต่แม่ไม่รู้เลยว่าความห่วงใยของแม่นั้นกำลังจะกลับมาทำร้ายตัวแม่เอง

เพราะการที่แม่ซึ่งเป็นคนนอกของลูก ไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ลูกไม่คุ้นแคย แล้วมาอยู่ด้วยกันจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าแม่จะดีกับลูกขนาดไหน ก็ไม่สามารถทำให้ลูกไว้ใจได้ และด้วยปัจจัยอะไรที่เกินกว่าเราจะทราบได้ ลูกชายก็ได้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการทำร้ายแม่ให้ถึงแก่ชีวิต ซึ่งพฤติกรรมทั้งหลายที่ข่าวนำเสนอของลูกชายช่างเข้าข่ายโรคทางจิตเวชที่รู้จักแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น แต่ในประเทศไทยยังมีการพูดถึงน้อยมาก ๆ ค่ะ เรียกว่า “Hikikomori” (ฮิคิโคโมริ)

โรค Hikikomori มีความหมายในภาษาญี่ปุ่นว่า “การแยกออก การถอยออกห่าง” ซึ่งอธิบายถึงอาการของโรคจิตเวชที่คล้ายคลึงกับโรคต่อต้านสังคม หรือ Anti-social และโรคกลัวการเข้าสังคม หรือภาษาจิตวิทยาเรียกว่า Agoraphobia ที่มีลักษณะเด่นคือการแยกตัวเองออกจากครอบครัว แม้จะอยู่บ้านเดียวกัน แต่คนที่เป็น Hikikomori มักจะขังตัวเองอยู่ในห้อง ออกมาเฉพาะตอนหิว หรือเข้าห้องน้ำ หรือหนักกว่านั้น หากผู้ป่วย Hikikomori เป็นคนมีความรู้ ก็สามารถหาเงินทางออนไลน์ และสั่งอาหาร รวมถึงของใช้ให้มาส่งได้ถึงหน้าห้อง โดยที่เขาไม่ต้องออกมาจากห้องซึ่งเป็น Safe zone ของเขาเลยด้วยซ้ำ อันที่จริงหากอาการของโรคมีเพียงแค่การกลัวเข้าสังคมเหมือนโรค Agoraphobia ก็คงกังวลน้อยกว่านี้ แต่ผู้ป่วยโรค Hikikomori ส่วนใหญ่ มักจะมีแนวโน้มต่อต้านสังคม รังเกียจผู้คน หากใครเข้ามายุ่งโลกของเขา เขาจะก้าวร้าว จนอาจทำร้ายคนนั้นทันที คล้ายกับโรคจิตเวช Agoraphobia ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็มีข่าวว่าคุณพ่อท่านหนึ่ง ยอมทำร้ายลูกชายคนเดียวของตัวเอง เพราะลูกชายที่ป่วยเป็น Hikikomori เกิดรำคาญเสียงงานกีฬาสีของเด็ก ๆ ในโรงเรียนที่อยู่แถวบ้าน แล้วจะนำอาวุธปืนไปกราดยิงเด็ก ๆ และข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วย Hikikomori ทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว ก็มีให้เห็นเป็นปกติตามข่าวของประเทศญี่ปุ่นค่ะ แต่ในประเทศไทย ทั้งวงการจิตวิทยาเอง หรือวงการข่าวสังคม กลับมีข้อมูลของผู้ป่วย Hikikomori น้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ Hikikomori เป็นสาเหตุหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัวค่ะ

โรค Hikikomori ในตำราจิตเวชไม่ได้ระบุสาเหตุที่ชัดเจนว่า Hikikomori เกิดมาจากอะไร แต่ข้อมูลจากนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา ให้ข้อมูลไว้ว่า Hikikomori มีสาเหตุมาจากความผิดหวังจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรุนแรง การโทษตัวเอง แรงกดดันจากคนรอบข้างโดยเฉพาะคนในครอบครัว ความเครียดสะสมเรื้อรัง การถูก Bully ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ที่เป็น Hikikomori กลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองแย่ ไม่มีคุณค่า และหากไม่ได้รับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะยิ่งทำให้ผู้ป่วย Hikikomori เกลียดโลก เกลียดผู้คน และขังตัวเองไปในที่สุดค่ะ

เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค Hikikomori กับคนในครอบครัว ดิฉันจึงได้รวบรวมข้อแนะนำของนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยามาฝากกันค่ะ

1. ใส่ใจทุกคนในครอบครัว

การใส่ใจ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ และการรับฟังเรื่องราวของแต่ละคนในครอบครัว นอกจากจะช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้แล้ว นักจิตวิทยายังแนะนำว่าสามารถใช้ความใส่ใจในการป้องกันโรค Hikikomori ได้ด้วยค่ะ เพราะโรคจิตเวช Hikikomori ก็เหมือนกระป๋องนำอัดลมที่บวมแก๊สใกล้ระเบิด แต่ถ้าหากเราให้เขาได้ระบายความทุกข์ ได้พูดความไม่สบายใจ ก็เหมือนการค่อย ๆ เปิดฝาให้แก๊สได้ระบายออกมาค่ะ

2. สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้แก่เด็ก ๆ

ภูมิคุ้มกันหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าสำคัญและทำให้เด็ก ๆ สามารถเติบโตขึ้นมาเผชิญโลกได้ ก็คือ ความยืดหยุ่นค่ะ เพราะความยืดหยุ่นจะทำให้เราพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ใส่ความรู้สึกกับสิ่งใดมากจนเกินไป ปรับตัวง่าย และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีค่ะ ซึ่งการฝึกความยืดหยุ่นก็สามารถทำได้ผ่านการเล่นเกมต่อบล็อก ต่อจิ๊กซอว์ ปั้นดินน้ำมัน การเล่นบทบาทสมมุติ และนิทานค่ะ

3. คิดในแง่บวก

การสอนให้เด็กมองโลกในแง่บวก อาจเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีสอน และวิธีลงโทษของคุณพ่อ คุณแม่ค่ะ จากเดิมที่สอนแบบเคร่งครัด ลูกผิดไม่ได้ ต้องถูกลงโทษ ให้เปลี่ยนมาเป็น ลงโทษลูกเชิงบวก คือ การให้แก้ไขในสิ่งที่ผิด เช่น ทำน้ำหก ก็ให้ช่วยทำความสะอาด ทำของแตกก็ให้ช่วยเก็บเงินซื้อ และหากเด็ก ๆ โตพอ (5 ขวบ ขึ้นไป) ก็สามารถสอนให้เขามองหาข้อดี – ข้อเสีย ในสิ่งที่เขาทำได้ด้วยค่ะ

4. ใช้เวลาร่วมกันให้มากที่สุด

การใช้เวลาร่วมกัน นอกจากจะเป็นการเพิ่มความสนิทสนมให้คนในครอบครัวแล้ว ยังเป็นการช่วยสังเกตได้ว่าคนในครอบครัวมีอะไรผิดปกติหรือไม่ เช่น จากปกติทุกคนทานข้าวเย็นพร้อมหน้า หากขาดใครไปซักคน คนในบ้านก็รู้ได้ทันทีว่ามีเรื่องผิดปกติเกิดขึ้นแน่นอน และช่วยเหลือได้อย่างทันทีค่ะ

5. เสริมความมั่นใจให้เด็ก ๆ

การเสริมความมั่นใจให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ของเรานั้น เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินไปกับคอร์สต่าง ๆ มากมายเลยค่ะ เพียงแค่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง แสดงความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เด็ก ๆ ทำเป็นเรื่องที่ดี แสดงความชื่นชมอย่างจริงใจต่อตัวเขา เพียงเท่านี้เด็ก ๆ ก็จะมั่นใจ และภูมิใจในตัวเองได้แล้วละค่ะ

6.เปิดโอกาสให้คนในบ้านได้ทำสิ่งที่ตนเองรัก

เป็นอะไรไม่ดีเท่า “เป็นตัวของตัวเอง” และการที่จะกล้าเป็นตัวของตัวเองได้นั้น คนในบ้านต้องให้โอกาสด้วยค่ะ เพราะมีหลายเคสเลยที่เลือกเรียน เลือกทำงาน หรือแม้แต่เลือกคู่ชีวิตตามใจคุณพ่อ คุณแม่ และแน่นอนค่ะ น้อยคนจะมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เลือก จะดีกว่าไหมคะ หากคนในครอบครัวเราสามารถเลือกชีวิตตัวเองได้ และมีความสุขกับชีวิตที่เขาเลือกเอง ซึ่งต่อให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร ก็เป็นความรับผิดชอบของเขาแล้วละค่ะ เพราะเขาได้เลือกเอง แต่ที่แน่ ๆ คนในครอบครัวจะอยู่เคียงข้างในทุกสถานการณ์

โรค Hikikomori ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีผู้ป่วย ซึ่งหากวงการจิตวิทยาบ้านเราได้ลองศึกษาผู้ต้องขัง หรือผู้ที่อยู่ในสถานพินิจด้วยเหตุทำร้ายคนในครอบครัวแล้วละก็ อาจจะพบว่ามีผู้ป่วย Hikikomori จำนวนมากก็เป็นไปได้ค่ะ ดังนั้น กันไว้ดีกว่าแก้เสมอค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : 1.Itou, Junichirou. 2003. Shakaiteki Hikikomori Wo Meguru Tiiki Seisin Hoken Katudou No Guide-line (Guideline on Mental Health Activities in Communities for Social Withdrawal)." Tokyo: Ministry of Health, Labor, and Welfare.

2. thaichildcare. ฮิคิโคโมริ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม. 15 มีนาคม 2019. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2020 จาก https://www.thaichildcare.com/

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.

มหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA

ประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี

ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 5 ปี

 
 

iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page