top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 ขั้นตอนเลือก Passion ที่ใช่ให้ตัวเราเอง


ในปัจจุบันคำว่า Passion เป็นคำที่ใช้กันทั่วไป แต่หลายครั้งก็เป็นการใช้ที่ไม่ตรงกับความหมายเสียทีเดียวนัก (ดูความหมายของ Passion แบบนักจิตวิทยาได้ที่ https://www.istrong.co/single-post/whats-the-passion ) หรือหากจะให้สรุปโดยรวบรัดที่สุดนั้น Passion ก็คือ “ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะลงมือทำในสิ่งหนึ่ง ๆ ให้ได้” หรือบางนิยามในภาษาอังกฤษคือ “Strong motivation mixed with intense emotion” ซึ่งในเรื่องของความหมายนั้นเราคงไม่ลงรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความนี้ แต่เราจะมาพูดกันว่าทำอย่างไรเราถึงจะรู้ได้ว่าอะไรกันแน่ที่เป็น Passion ของเรา สิ่งที่เราพบเจออยู่ตอนนี้มันจะสามารถพัฒนากลายไปเป็น Passion ของเราได้หรือไม่


เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องใช้ศัพท์เทคนิคใด ๆ ผมจะขอยกตัวอย่างชีวิตของชายคนหนึ่งที่เป็นพนักงานออฟฟิศ เขาไม่มีความสนุกสนานในการทำงานเลย แม้ว่าการทำงานของเขานั้นจะสะดวกสบายเป็นอย่างมาก เขานั่งทำงานในห้องแอร์เย็นสบาย อุปกรณ์สำนักงานและสถานที่สะอาดสะอ้าน มีรายได้และสวัสดิการเพียบพร้อม งานก็ทำจนชำนาญสามารถจัดการได้ทุกปัญหาที่จะเกิดขึ้น ที่ทำงานกับคอนโดก็ใกล้จนเดินถึงกันได้ เขาทำงานได้สำเร็จทุกชิ้นแล้วกลับคอนโด แม้ชีวิตจะราบรื่นปราศจากอุปสรรค แต่ชายคนนี้รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมายเลย นี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ


ในเวลาต่อมาชายคนเดียวกันได้ไปเดินอยู่บนทางเดินป่าขึ้นภูกระดึง การเดินเท้าใช้เวลาค่อนวันและยากลำบากไม่น้อย อากาศร้อนอบอ้าวและสภาพทางเดินที่ขรุขระตลอดทาง หิว เหนื่อย หมดแรง เปรอะเปื้อน ขาพลิก ตะคริว อุปสรรคทุกอย่างอยู่รายรอบตัวเขาเต็มไปหมด แต่เขาก็สามารถเดินขึ้นยอดภูได้สำเร็จ ชายหนุ่มรู้สึกตื่นเต้นดีใจกับสิ่งที่ทำได้แม้จะไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ จากการเดิน แต่ป้ายที่เขียนว่าเราคือผู้พิชิตภูกระดึงที่ได้เห็นกับตาก็ทำให้เขารู้สึกมีความสุขอย่างมาก ต่อมาเขาทำบล็อกเกี่ยวกับการเตรียมตัวเดินขึ้นภูกระดึง อาสาตอบคำถามที่นักท่องเที่ยวสอบถามมาในเว็บไซต์ท่องเที่ยว และยังหาโอกาสไปเดินป่าที่อื่น ๆ ทั่วไทยเพื่อนำข้อมูลรีวิวการเดินป่ามาลงบล็อกเสมอ ๆ สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง แต่เขายังวางแผนที่จะเดินป่าอยู่เสมอ


อะไรคือความแตกต่างระหว่างเรื่องราวทั้งสอง ทั้ง ๆ ที่ตัวละครคือชายคนนี้เป็นคน ๆ เดียวกัน ?


ทำไมเขาถึงมีความสุขกับกิจกรรมที่สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง กิจกรรมที่เหน็ดเหนื่อย ลำบาก บาดเจ็บ ไม่มีผลตอบแทนเป็นตัวเงิน แทนที่จะมีความสุขกับการอยู่ในออฟฟิศเย็นสบาย สะดวก ทำงานง่าย ๆ ให้จบวันแล้วไปพัก ได้รับผลตอบแทนที่ดี คำตอบก็คือ Passion ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องผลตอบแทนทางกายภาพก็ได้ หลายคนทำงานประจำเพื่อให้มีรายได้หล่อเลี้ยงตัว จากนั้นก็ใช้เวลาว่างไปทำในสิ่งที่เป็น passion เพื่อให้ได้ความรู้สึกที่ดีมาหล่อเลี้ยงใจ บางคนโชคดีค้นพบ Passion ได้ไว บางคนโชคดีกว่าสามารถเชื่อมโยง Passion กับงานที่ทำจนได้ทั้งความสุขและรายได้ที่ดี แต่สำหรับใครหลายคนที่ยังค้นหา Passion ของตัวเองไม่เจอ หรือไม่แน่ใจ ขอให้ลองใช้ตัวแปรเหล่านี้ในการคัดกรองดูว่ากิจกรรมไหนกันแน่ในชีวิตที่เป็น Passion ของเราครับ


1. สังเกตว่าการได้ “รู้เพิ่ม” ในเรื่องอะไรที่ทำให้คุณตื่นเต้น (ที่ไม่ใช่เรื่องซุบซิบชาวบ้าน)


แม้ว่าจะเป็นการเรียนรู้เพิ่มทีละเล็กละน้อยก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่เราจะได้พบหรือเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามาในแต่ละวัน แต่จะมีบางเรื่องที่ดึงความสนใจของเราได้แม้ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม และอาจเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราในตอนนั้นเลยก็เป็นได้ หมั่นสังเกตข้อมูลที่ทำให้เราเกิดแสงวาบในหัวและเกิดความสนใจโดยไม่ต้องมีเหตุผลใด ๆ อธิบาย เช่น สนใจเรื่องส่วนประกอบอาหาร สนใจเรื่องสิงสาราสัตว์ สนใจเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผู้คน สนใจเรื่องน้ำหอม สนใจเรื่องต้นไม้ดอกไม้ สนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไก ฯลฯ


2. ลิสต์สิ่งที่เราให้ความสนใจ


สิ่งที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษจากข้อที่แล้วอาจจะมีหลายเรื่องและไม่เกี่ยวข้องกันเลย ไม่ต้องตกใจ ขอให้จดเป็นลิสต์ออกมาก่อนว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เราจะนำลิสต์นี้เองมาคัดกรองความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งใดที่อาจจะเป็น Passion ของคุณบ้าง มันอาจจะดูเหมือนมีขั้นตอนอยู่บ้าง แต่การกลั่นกรองจนรู้แน่ชัดว่าสิ่งใดคือ Passion ของคุณมีความสำคัญมาก พราะมันจะทำให้เรารู้ว่านอกจากชีวิตประจำวันที่แสนน่าเบื่อหน่ายแล้วมีอะไรที่คอยทำให้ชีวิตของเรากลับมามีความสมดุลบ้าง และหาก Passion ของเรานั้นตรงกับสิ่งที่เราทำได้ทันทีและเป็นสิ่งที่เป็นการแก้ไข pain ของคนทั่วไป นั่นแปลว่าเราอาจกำลังพบช่องทางทำงานแบบใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างรายได้สูงจาก Passion ของเราก็ได้


3. ประเมินว่า “เราให้เวลาไปกับความสนใจสิ่งไหนมากกว่ากัน”


นำรายการความสนใจของเรามาลองทำเป็นเช็คลิสต์ในกระดาษหรือคอมพิวเตอร์ก็ได้ และทำการประเมินว่า “เราให้เวลาไปกับความสนใจสิ่งไหนมากกว่ากัน” , “หากทำสิ่งนั้น ๆ แล้วเกิดอุปสรรคขึ้น เราทนต่ออุปสรรคที่จะเกิดในกิจกรรมใดมากที่สุด” , “กิจกรรมอะไรที่เราคิดถึงมันเสมอแม้ว่ามันจะไม่ได้อยู่ตรงหน้า” , “อะไรที่เรากล้าลองผิดลองถูกเพื่อทำมันจนกว่าจะชำนาญ โดยไม่สนใจว่าจะล้มเหลวหรือไม่” คำถามทั้งหมดนี้เราอาจจะลองใส่คะแนนเป็นลำดับ 1 ถึง 5 ในแต่ละคำถามของแต่ละกิจกรรม หากกิจกรรมใดได้คะแนนสูงสุดก็มีแนวโน้มว่านั่นคือ Passion อันดับหนึ่งของคุณ และในการทำเช็คลิสต์นี้คุณจะได้รู้จัก Passion อันดับรอง ๆ ลงไปของชีวิตคุณอีกด้วย


ไม่ว่ากิจกรรมคัดกรอง Passion อย่างง่ายนี้จะออกมาเป็นอย่างไร อย่ากังวลใจไปถ้าได้พบว่า Passion อันดับ 1 , 2 หรือ 3 ไม่ตรงกับอาชีพหลักของคุณเลย และอย่าเพิ่งดีใจที่ได้ค้นพบ Passion จนทิ้งอาชีพหลักไปลงมือตาม Passion เลยเต็มที่ในฉับพลัน อย่าลืมว่าแม้ในอาชีพประจำของเราที่เราใช้เลี้ยงตัวเองเราก็สามารถประยุกต์เอา Passion มาผสมในงานประจำได้ เช่น คนขายของที่มี Passion ในการร้องเพลงก็ใช้การร้องเพลงเรียกความสนใจจากลูกค้า พนักงานขายที่มี Passion ในเรื่องประวัติศาสตร์ก็อาจเอาเรื่องนี้ไปแปลงเป็นบทสนทนาในการพบปะลูกค้าบางรายหรือใช้ประกอบการยกตัวอย่างเป็นสตอรี่ที่สอดคล้องกับสินค้าที่ขายทำให้สินค้ามีความน่าสนใจยิ่งขึ้น พนักงานฝ่ายบุคคลอาจประยุกต์เอา Passion ในการเล่นกีฬามาออกแบบโครงการแรงงานสัมพันธ์ในองค์กรได้ เป็นต้น แต่ในบางกรณีถึงเราจะไม่สามารถประยุกต์ Passion ให้เกื้อหนุนงานประจำได้ อย่างน้อยที่สุดการค้นพบ Passion นั้นเราก็ได้รู้ว่ายังมีมุมหนึ่งของชีวิตที่เราสนใจและทำให้ชีวิตของเราสมดุลได้ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเราในระยะยาวนั่นเอง


ในโอกาสหน้าเราจะกลับมาพูดคุยเพิ่มเติมถึงด้านมืดของ Passion และการควบคุมความสมดุลระหว่าง Passion กับการดำรงชีวิตของเรากันครับ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

**ท่านที่สนใจสามารถอ่านบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่

 

ผู้เขียน ธเนศ เหลืองวิริยะแสง

M.Sc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University.

HRD Specialist, วิทยากร และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page