top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เลิกกันแล้ว เป็นเพื่อนกันได้จริงหรือ?

ในชีวิตของเราๆ คงได้เคยผ่านความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ความรัก” กันมาบ้างนะคะ แม้ว่าหลายคนจะถึงขั้น “โชกโชน” แต่เอาเถอะ ผู้เขียนคิดว่านั้นคงเป็นผู้อ่านส่วนน้อยของเรา แหะๆ



เอาละทีนี้พอเรามีความรัก และเมื่อความรักจบลง ส่วนมากมักจะจบไม่สวยเสียด้วยสิ จึงนำมาซึ่งคำถามหนักหัวว่า “เลิกกันแล้ว เป็นเพื่อนกันได้ จริงหรือ ?”



นั้นน่ะสิ เมื่อความสัมพันธ์ฉันคนรักจบลง เราจะสามารถเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่กับคนเดิมในฐานะ “เพื่อนได้ไหมนะ?” ในบทความนี้เราจะมาหาคำตอบกันค่ะ



จิตวิทยาว่าด้วยความรัก


Sigmund Freud นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังที่เราคุ้นเคยได้มีแนวคิดว่า การที่คนเรามีความรัก เพราะเราต้องการพลังอํานาจจากการเป็นที่รัก การรู้สึกได้รับความรัก และจากความรู้สึกได้รัก อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และความรู้สึกในวัยเด็กที่ยังเป็นศูนย์กลางความรักของทุกคนในครอบครัว และเกิดจากความต้องการมีอิทธิพลต่อบุคคลที่ตนจะมีความสัมพันธ์ด้วย (object choice)



ต่อมา Harry Sullivan ได้เริ่มต้นศึกษาเรื่องจิตวิเคราะห์และพัฒนาต่อเป็น Interpersonal Theory หรือ ทฤษฎีสัมพันธภาพระหว่างบุคคล โดยมีแนวคิดที่ต่างจาก Freud ตรงที่ Sullivan เน้นว่า พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลมาจากการที่บุคคลมีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นในสังคม โดยมนุษย์เป็นผลผลิตของการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความต้องการของบุคคลและบอกทิศทางของการเจริญเติบโต



ทั้งนี้ Sullivan เชื่อว่า ประสบการณ์ชีวิตในวัยต้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อสุขภาพจิต ของบุคคลในวัยหลังของชีวิต ประสบการณ์ที่สำคัญ ก็คือความวิตกกังวล ซึ่งได้รับจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กและสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ตามแนวคิดของ Interpersonal Theory เชื่อว่าบุคคลจะมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นเพื่อให้ตนเองรู้สึกพึงพอใจ (satisfactions) ซึ่งเน้นที่ความต้องการทางสรีรวิทยา เช่น ความหิว การนอนหลับพักผ่อน ความต้องการทางเพศ เป็นต้น และเพื่อให้ตนเองรู้สึกมั่นคง (security) ซึ่งเป็นความต้องการเพื่อความคงอยู่อย่างมีความสุข ต้องการการยอมรับในสังคม




จากความรักพัฒนาเป็นความผูกพัน


ในยุคต่อมา John Bowlby ได้พยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จึงได้ศึกษาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ พัฒนาการเด็ก ประสาทชีววิทยา Evolutionary biology Ethology และ Cognitive science จนได้มาซึ่ง ทฤษฎีความผูกพัน (Attachment theory) และได้รับการพัฒนาต่อยอดโดย Mary Ainsworth ทฤษฎีนี้อธิบายว่า ความผูกพันเป็นสายสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่มั่นคงซึ่งมนุษย์แสวงหาและต้องการไปตลอดชีวิต และจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเมื่อได้รับความเครียดหรือความกดดัน ความผูกพันแตกต่างจากการพึ่งพา เนื่องจากผู้ที่มีความผูกพันยังคงความเป็นตัวของตัวเอง



นั้นจึงสามารถอนุมานได้ว่า คู่รักที่รักกันมายาวนาน และผ่านประสบการณ์ชีวิตที่มีความเครียด ความกดดันด้วยกันมา มีแนวโน้มว่าจะมีความผูกพันต่อกันมากกว่าคู่รักที่เพิ่งคบหาดูใจ หรือคู่รักสายชิวที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์กดดันร่วมกัน



เลิกกันแล้ว เป็นเพื่อนกันได้ จริงหรือ?


Sussman ได้ทำการวิจัยในปี ค.ศ. 2000 เรื่อง ความสัมพันธ์ที่เป็นเพื่อนกับคนรักเก่า ผลวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่กลับมาคบกับคนรักเก่าในฐานะเพื่อน ส่วนมากแล้วจะไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวัง โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อน ทั้งนี้ งานวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงข้อเสียของการกลับไปเป็นเพื่อนกับคนรักเก่าว่า ทำให้เราไม่สามารถเริ่มต้นใหม่ในฐานะคนรักกับคนใหม่ได้



Ashley Brett นักวิจัยทางด้านจิตวิทยา ได้ทำการวิจัยในปี ค.ศ. 2003 พบว่า ความทุกข์ ความเสียใจจากการเลิกราเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เรามีการพัฒนาตนเอง ในขณะที่การหลีกเลี่ยงความเสียใจ ก็ทำให้เราย่ำอยู่กับที่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง



ในปี ค.ศ. 2004 NBC สำนักข่าวของสหรัฐฯ เคยทำสำรวจพบว่า อดีตคู่รัก 48% ให้ข้อมูลว่า ตัวเองสามารถเป็นเพื่อนกับคนรักเก่าได้ อีก 18% บอกว่า พยายามแล้วนะ แต่ไม่ไหวจริงๆ โดยเหตุผลหลักๆ ของคนที่ไม่สามารถรับคนรักเก่าเป็นเพื่อนได้ก็ง่ายๆ คือ อีกฝ่ายทำร้ายจิตใจเกินไป


นอกจากนี้ จากการทดลองโดย Columbia University ที่ใช้ MRI scan พบว่า เมื่อคนที่ดูรูปคนรักเก่าที่พึ่งเลิกไป ส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดทางร่างกาย คือ insular corted และ anterior cingulate จะ active ขึ้นอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงว่า ความ “เจ็บปวด” นั้น คือความเจ็บปวดจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่จิตใจ



เช่นเดียวกับจากการศึกษาที่รายงานใน Journal of Nuerophysiology โดย Rutgers University บอกว่า ในการ scan MRI ในคนที่อกหัก สมองส่วน nucleus accumbens และ orbitofrontal/prefrontal cortex ถูกกระตุ้น มีอาการคล้ายกับคนที่ติดโคเคน และนั่นทำให้ อาการข้างเคียงอื่นๆตามมา เช่น สมาธิลดลง ไม่สามารถใช้ความคิดได้เหมือนปกติ



ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักวิชาการบางคนแนะนำว่า ถ้าตัดสินใจเลิกกันแล้ว ในระยะแรกๆ ก็ไม่ต้องพยายามเป็นเพื่อนกัน เพราะการกลับมาพบกันอีก ย่อมไม่ต่างจากคนที่พยายามเลิก ยาเสพติดแล้วกลับไปลองเสพใหม่ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าจะกลับไปเสพติดอีกหน แล้วจะกลับไปเจอปัญหาเดิมๆ อีก



ดังนั้นแล้ว กับคำถามที่ว่า “เลิกกันแล้ว เป็นเพื่อนกันได้ จริงหรือ?” ผู้เขียนคงไม่สามารถตัดสินได้ว่า การกลับไปคบกับคนรักเก่าในฐานะใหม่จะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี แต่ขอให้คุณผู้อ่านพิจารณาจากข้อมูลที่นำมาเสนอด้วยตนเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องของ Case by Case และหลายครั้ง ก็มักจะเป็นไปตามทฤษฎีและผลการวิจัย หากผู้อ่านท่านใดสนใจจะแชร์เรื่องราว สามารถเขียนในคอมเมนท์ได้เลยนะคะ สัญญาว่าผู้เขียนจะอ่านทุกคอมเมนท์เลยค่ะ


 

อ้างอิง :

1. ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร. 2551. จิตวิทยาความรัก. (Psychology of Love). วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2551; 53 (2). หน้า 221 – 223.

2.https://sites.google.com/site/wingsswagger/3-thvsdi-thangkar-phyabal-sukhphaph-cit/3-1-thvsdi-cit-wikheraah-samphanthphaph-rahwang-bukhkhl-laea-cit-sangkhm

3. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. ความรู้เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงลูก. นนทบุรี : บริษัท บียอนด์พับลิสชิ่ง จํากัด. หน้า 1 – 3.

4. https://love.campus-star.com/relationship/18521.html

5.http://johjaionline.com/opinion/%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%81/

6. https://thematter.co/pulse/post-romantic-relationship-friendship/34844

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page