นักจิตวิทยาแนะนำ 7 เทคนิค รับมือกับลูกขี้หงุดหงิดแบบพ่อ แม่ มือโปร
พ่อ แม่ ที่มีลูกวัยทอง 2 ขวบ จนถึงลูกวัยรุ่น ต่างประสบปัญหากับลูกขี้หงุดหงิด บางทีก็หงุดหงิดแบบมีเหตุผล พูดคุยกันได้ แต่บ่อยครั้งลูกก็หงุดหงิดอะไรก็เกินคาดเดา หัวเราะอยู่ดี ๆ หน้าบูดหน้าบึ้งเสียอย่างนั้น ส่งผลให้พ่อ แม่ปวดหัวไปตาม ๆ กัน ซึ่งแน่นอนค่ะดิฉันเองก็ประสบปัญหาลูกขี้หงุดหงิดเช่นกัน ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอนำ 7 เทคนิค รับมือกับลูกขี้หงุดหงิดแบบพ่อ แม่ มือโปร ตามข้อแนะนำของนักจิตวิทยาพัฒนาการมาฝากกันค่ะ
ก่อนอื่นเลยเรามาทำความเข้าใจพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกเราก่อนนะคะ ว่าตามทฤษฎีจิตวิทยาว่าอย่างไรบ้าง ตามทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ กล่าวว่า เด็ก ๆ มักมีพื้นฐานของอารมณ์แตกต่างกันตั้งแต่แรกเกิดและมักจะคงลักษณะทั่วไปจนโต ซึ่งเป็นผลมาจากการเลี้ยงดู เช่น หากแม่สามารถทำให้ลูกมั่นใจได้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว ลูกก็จะมีความกล้า หรือหากพ่อ แม่ มีวิธีการจัดการอารมณ์ที่ดี เด็กก็จะมีแนวโน้มที่จะอารมณ์ดี สามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น โดยพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็ก ๆ จะเด่นชัดในช่วงอายุวัยเรียน (School age, อายุ 6 – 12 ปี) ซึ่งเด็ก ๆ จะมีพัฒนาการรื่องการควบคุมอารมณ์ (Impulse control) ในช่วงนี้เด็ก ๆ จะควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี แสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจอย่างเด่นชัด อยากได้อะไรต้องได้ อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สลับกันไปมาจนพ่อ แม่หัวจะปวด จนเมื่อลูกเราเข้าสู่วัยรุ่น (Adolescence, อายุ 12 – 18 ปี) จะมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและความคิดที่รุนแรงมากขึ้น เริ่มมีการต่อต้าน ดื้อรั้น อารมณ์รุนแรง มีความยากลำบากในการควบคุมอารมณ์ทางลบ ถ้าหากพ่อ แม่ ไม่มีวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของลูกอย่างเหมาะสม จะกลายเป็นปัญหาด้านความสัมพันธ์จนนำไปสู่ปัญหาครอบครัวตามมา
ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้แนะนำ 7 เทคนิค รับมือกับลูกขี้หงุดหงิดแบบพ่อ แม่ มือโปร ดังนี้ค่ะ
1. ทำความเข้าใจพัฒนาการทางอารมณ์ของลูก
ดังที่กล่าวไปตอนต้นถึงเรื่องของพัฒนาการทางอารมณ์ของลูก หากเรามีความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของลูกเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ เป็นพัฒนาการตามวัย เราจะลดความโกรธ ความโมโห ความไม่เข้าใจลูกลงค่ะ และยิ่งเรารู้ถึงลักษณะเด่นของอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยช่วงอายุวัยเรียน (School age, อายุ 6 – 12 ปี) จะมีลักษณะเด่น คือ มีความยากในการควบคุมอารมณ์ มีความเอาแต่ใจ และอารมณ์จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ในวัยรุ่น (Adolescence, อายุ 12 – 18 ปี) ที่จะมีการต่อต้านสูง และมีการตอบโต้ทาอารมณ์ที่รุนแรง พ่อ แม่อย่างเราที่มีความรู้เรื่องจิตวิทยาพัฒนาการจะสามารถหาทางรับมือได้ดีและเหมาะสมกว่าการที่เราไม่รู้อะไรเลยค่ะ
2. ยิ่งลูกร้อนเท่าไร เราต้องใจเย็นมากเท่านั้น
จุดอ่อนของพ่อ แม่ที่มีลูกขี้หงุดหงิด ก็คือ พ่อ แม่เองก็ขี้หงุดหงิดเช่นกัน ซึ่งนั้นยิ่งทำให้ความหงุดหงิดของลูกติดตัวลูกไปจนโต จนเกิดเป็นความยากลำบากในการควบคุมอารมณ์ ส่งผลให้ลูกอาจมีวุฒภาวะทางอารมณ์ไม่สมวัย และกลายเป็น Toxic People ที่สร้างมลภาวะให้แก่ชีวิตคนรอบข้างได้ ดังนั้นแล้วถ้าเห็นแกอนาคตของลูก เห็นแก่ความสงบสุขในชีวิตลูก ยิ่งลูกหัวร้อนมากเท่าไร ขอให้พ่อ แม่ใจเย็นให้เป็นน้ำแข็งเลยค่ะ พยายามควบคุมลมหายใจ นับเลขในใจช้า ๆ จะนับถึงพัน ถึงหมื่นก็ต้องทำ ท่องไว้เพื่ออนาคตของลูกค่ะ
3. นิ่ง สงบ สยบทุกความเคลื่อนไหว
หากลูกของเราเริ่มแสดงความก้าวร้าวโดยการลงไปนอนดิ้นกับพื้น หรือเริ่มทำลายข้าวของ ก่อนที่เราจะตวาด ดุ ตี หรือตะโกนใส่ลูก ให้ใช้เทคนิคใจเย็นในข้อก่อนหน้า มาผสมผสานกับเทคนิคในข้อนี้ คือ นิ่ง สงบ เพื่อสยบทุกความเคลื่อนไหว หากลูกงอแง หรือลงไปนอนดิ้น ให้พาลูกไปยังที่สงบ ๆ ที่ปลอดภัย ที่ ๆ ลูกเราไม่สามารถทำอะไรให้เยหายได้ แล้วปล่อยให้ลูกปล่อยพลังให้เต็มที่เลยค่ะ เมื่อเขาสงบเราต่อยคุยด้วยเหตุผล ด้วยน้ำเสียงปกติ และให้เขารับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ เช่น ทำความสะอาดพื้นที่ ๆ เขาทำเละเทะ หรือหากลูกต้องการของเล่นชิ้นนั้น และยังยืนยันที่จะซื้อ เราก็ต่อรองเลยว่าจะหักจากค่าขนม กี่เดือนก็ว่าไป หากเขายอมตกลง เราก็ทำตามเงื่อนไขได้เลยค่ะ
4. อย่าทำโทษลูกด้วยอารมณ์
กฎเหล็กในการรับมือกับลูกขี้หงุดหงิด ก็คือ เราอย่ากลายเป็นพ่อ แม่ขี้หงุดหงิดเสียเอง เพราะถ้าเราปล่อยให้อารมณ์ทางลบครอบงำเราเมื่อไร เลือดเราจะร้อน จุดเดือดเราจะต่ำ แล้วเราจะระเบิดอารมณ์ใส่ลูก ซึ่งผลที่ตามมาไม่ดีหรอกค่ะ บางทีก็ถึงขั้นเลวร้าย เด็กหลายคนหนีออกจากบ้าน หรือใช้สารเสพติด หรือติดเพื่อน ติดเกม เสียผู้เสียคนก็เพราะพ่อ แม่ ระเบิดอารมณ์ใส่ ดังนั้นต้องมีสติในยามที่ลูกใช้อารมณ์ หากต้องการชนะลูกขี้หงุดหงิด เราต้องเป็นพ่อ แม่ที่อ่อนโยน เพื่อโอบอุ้มลูกที่แข็งกร้าว ในยามที่ลูกเป็นไฟเราต้องเป็นน้ำให้ได้ค่ะ
5. บางครั้ง Time out ก็เป็นคำตอบที่ดี
ทีนี้คุณพ่อ คุณแม่คงมีคำถามว่า แล้วถ้าไม่ลงโทษด้วยอารมณ์ เช่น ตี ดุ ด่า ว่ากล่าว จะสามารถลงโทษลูกที่หงุดหงิดแล้วสร้างปัญหาหรือไม่ บอกได้เลยค่ะว่ามี วิธีที่ว่าเรียกว่า Time out คือ การกักบริเวณ หรือการให้ลูกเข้ามุม โดยกำหนดเวลาในการเข้ามุม หรืออยู่ในบริเวณที่กำหนด เพื่อสงบจิตสงบใจ วิธีนี้ไม่ใช่การขังลูกไว้ในที่ ๆ สร้างความหวดกลัวให้ลูก เช่น ห้องมืด ห้องใต้บันได ห้องใต้หลังคา แต่การ Time out ต้องจัดให้ลกอยู่ในที่ ๆ ลูกปลอดภัย และสามารถมองเห็นเราได้ตลอดเวลา วิธีนี้จะทำให้ลูกใจเย็นลง และสงบมากขึ้น
6. และบางครั้ง Time in ก็ได้ผลดีเช่นกัน
นอกจาก Time out แล้ว อีกวิธีที่อยากแนะนำ ก็คือ Time in คือ การดึงลูกมากอดไว้และใช้เวลาสงบจิตสงบใจไปพร้อมกับลูก ซึ่งวิธีนี้มีเงื่อนไขคล้าย Time out ค่ะ คือ ต้องทำให้สถานที่ ๆ ปลอดภัยกับลูก และต้องตัดสิ่งเร้าออจากลูก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกหงุดหงิด เงียบ มีแสงสว่างเพียงพอ มีการกำหนดเวลา แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ เราต้องอยู่กับลูกตลอดเวลาที่ Time in หากสามารถกอดหรือสัมผัสลูกได้ยิ่งดีเลยค่ะ เพราะวิธีนี้จะทำให้ลูกสงบได้เร็วขึ้น และเมื่อพายุอารมณ์สงบแล้วการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกันก็เป็นไปง่ายขึ้นด้วย
7. เมื่อลูกอารมณ์เย็นลงแล้ว มาคุยถึงสาเหตุของความหงุดหงิดของลูก
และข้อแนะนำสุดท้ายจากผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา ก็คือ อย่าลืมหาสาเหตุที่ทำให้ลูกหงุดหงิดด้วย เพราะเมื่อเรารู้ว่าลูกหงุดหงิดด้วยสาเหตุอะไร เราก็สามารถตัดสาเหตุ หรือปัจจัยกระตุ้นนั้นออกไปจากลูกได้ เมื่อเราลดสิ่งที่เป็นสาเหตุของความหงุดหงิด ความหุดหงิดก็ลดลง หรืออย่างน้อยเราก็สามารถรับมือกับความหงุดหงิดของลูกได้ดีขึ้นค่ะ
คนเราย่อมมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง และหงุดหงิด หัวร้อนเป็นธรรมดา ขนาดเราที่เป็นผู้ใหญ่แล้วบ่อยครั้งยังหงุดหงิดเรื่องอื่นแล้วไปเผลอลงที่ลูกเลยค่ะ เพราะฉะนั้นแล้ว หากพบว่าลูกหงุดหงิด จึงควรทำความเข้าใจ และรับมืออย่างพ่อ แม่มือโปรด้วยเทคนิคที่แนะนำไปจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่านะคะ
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : 6 พฤติกรรมของลูก ที่ต้องรีบพามาพบนักจิตวิทยา
อ้างอิง : นงพงา ลิ้มสุวรรณ. (มปป.). พัฒนาการทางจิตใจ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/06242014-1920
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments