5 วิธีสอนลูกให้รับมือกับความผิดหวังเพื่อป้องกันโรคซึมเศร้า
อย่างที่เราทราบกันดีว่า “โรคซึมเศร้า” ได้กลายมาเป็นโรคทางจิตเวชยอดฮิตในสมัยนี้ ซึ่งสามารถเป็นกันทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ โดยสาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้าในเด็กมาจาก “ความผิดหวัง” นั่นเองค่ะ
เจ้าความผิดหวังถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราต้องเจอะเจอกันอยู่แล้วถูกไหมคะ แต่สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่เพิ่งเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่บนโลกมาแค่ 3 – 5 ปี การสอนให้เขารู้จักความผิดหวังดูจะเป็นเรื่องยากสักนิดหนึ่ง เพราะตลอดเวลา 3 – 5 ปี ของชีวิตเขา มีเราซึ่งเป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครองคอยดูแล ปกป้อง และในครอบครัวที่มีปู่ ย่า ตายาย มักจะแถมการสปอยด์ให้อีกต่างหาก ทำให้เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้น ต้องไปอยู่กับโลกแห่งความจริง เขาจะตั้งรับกับความผิดหวังได้ลำบาก ซึ่งจะทำให้เกิดโรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ตามมาเมื่อเขาโต แถมยังมีแนวโน้มสูงที่เขาจะไม่สู้ชีวิต ซึ่งจะทำให้ลูก ๆ ที่รักของเราอยู่ยากในสังคมที่ต้องปากกัดตีนถีบนะคะ เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้ารักเขา เรามาสอนเขาให้เรียนรู้ที่จะรับมือกับความผิดหวังตามคำแนะนำของนักจิตวิทยากันดีกว่า
1.เพิ่มประสบการณ์ในชีวิตด้วยการสนับสนุนให้ลูก ๆ ทำกิจกรรมนอกบ้าน
การทำกิจกรรมนอกบ้านที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่ขนาดส่งลูกไปตั้งแคมป์ไฟที่ค่ายลูกเสือ รึส่งลูกไปฝึกที่เขาชนไก่ เอาแค่เหมาะสมกับวัยของเขา เช่น ไปสวนสัตว์ ไปเล่นกับเพื่อน ๆ ที่สนามเด็กเล่น เพียงเท่านี้เขาก็มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา ประสบการณ์ในการรู้จักสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเขามากยิ่งขึ้นแล้วค่ะ และการเรียนรู้การแก้ไขปัญหานี้ละค่ะที่นักจิตวิทยาบอกไว้ว่า จะทำให้เขาสามารถรับมือกับความผิดหวัง หรือเวลาผิดพลาดได้อย่างสมาร์ทและสตรอง ซึ่งจะทำให้ห่างไกลจากโรคซึมเศร้าได้ด้วยค่ะ
2. เสริมทักษะทางสังคมด้วยการเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน
การสนับสนุนให้ลูก ๆ อยู่กับเพื่อนวัยเดียวกันอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็จะทำให้เขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่น เรียนรู้การทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ เรียนรู้การสื่อสารเพื่อเข้าสังคม เช่น การทักทาย การเริ่มปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การใช้ภาษาในการเข้าสังคม การปรับตัวเพื่อเข้ากับเพื่อน การเรียนรู้เรื่องความชอบ – ความไม่ชอบ การเรียนรู้เรื่องการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม รวมไปถึงการเรียนรู้เรื่องการจัดการกับอารมณ์ทางลบได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับลูก ๆ ของเราในการแก้ไขปัญหาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น และการที่ลูก ๆ ของเรามีทักษะทางสังคมดี ก็จะทำให้โอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าลดลง เพราะเขาสามารถขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเวลามีปัญหาได้อีกด้วยค่ะ
3. ฝึกระเบียบวินัยให้รู้จัก “รอ” และ “เคารพกติกา”
การฝึกระเบียบวินัยให้กับลูก ๆ สามารถทำได้ตั้งแต่ลูกอายุ 3 ขวบเลยค่ะ เพราะตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการนี้ได้บอกไว้ว่า เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์พร้อมแล้วที่จะฝึกและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ซับซ้อนได้ รวมถึงการฝึกระเบียบวินัยให้กับเด็ก ๆ ด้วย ในการฝึกช่วงแรกอาจเริ่มต้นด้วยการจัดตารางเวลา ในแต่ละวันร่วมกับลูกค่ะ โดยวิธีที่นักจิตวิทยาเด็กแนะนำก็คือ การหาสัญลักษณ์เพื่อเตือนเรื่องขอบเขตเวลา เช่น ทำพื้นหลังของนาฬิกาในบ้านเป็นสี ๆ หรือมีรูปภาพของกิจกรรมนั้น ๆ ในแต่ละช่วงเวลา โดยสีหรือสัญลักษณ์ที่ใช้ต้องเป็นสิ่งที่เด็กเห็นแล้วเข้าใจได้ เช่น ภาพคนนอน ภาพอาหาร ภาพเครื่องเล่น เป็นต้น ซึ่งการฝึกเช่นนี้จะทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะรอ และเคารพกติกาที่กำหนดร่วมกับคุณพ่อ คุณแม่ ทีนี้เมื่อเขาเจอกับความผิดหวังเขาก็จะยอมรับได้ว่าเข้าผิดพลาด และเรียนรู้ที่จะรอเพื่อแก้ไข หรือรอเวลาที่จะลงมือทำสิ่งนั้นใหม่เพื่อให้สำเร็จในโอกาสต่อไป ทำให้ไม่เกิดอารมณ์เศร้าเรื้อรังที่จะนำไปสู่โรคซึมเศร้าต่อไปนั่นเองค่ะ
อ่อ....ลืมบอกไป หัวใจสำคัญของการฝึกวินัยมี 2 อย่างนะคะ คือ ความสม่ำเสมอ และการให้ลูก ๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาค่ะ เพราะถ้าเขาได้มีส่วนร่วมเขาจะรู้สึกว่า สิ่งนั้นเขาคิดขึ้นเอง เขาจะเต็มใจทำอย่างเต็มที่ค่ะ
4. เป็นพ่อแม่ที่คำไหนคำนั้น
การที่เราทำตามคำพูดที่เราได้บอกกับลูก ๆ ไว้อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ลูก ๆ ยึดเราเป็นตัวอย่างโดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าถ้าพูดอะไรแล้วต้องทำตามที่พูด ซึ่งการปลูกฝังเช่นนี้จะทำให้เขาเป็นคนซื่อสัตย์กับตัวเอง เป็นคนที่พูดแล้วต้องทำให้ได้อย่างที่พูด แล้วลูก ๆ ของเราจะมีความสตรอง และมี Ego ที่เข้มแข็งค่ะ ไม่ว่าเขาจะผิดหวังสักกี่ครั้ง เขาก็จะวางแผนและลงมือทำจนสามารถสำเร็จได้ตามแผนเลยละค่ะ การที่เขามี Ego ที่เข้มแข็งยังทำให้จิตใจของเขาสตรอง และทำให้โอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยลงไปมาก ๆ เลยค่ะ นอกจากประโยชน์ที่เกิดกับลูก ๆ แล้ว การเป็นคุณพ่อ คุณแม่ที่พูดคำไหนคำนั้น ยังทำให้คุณผู้อ่านเป็นไอดอลในสายตาของลูกเลยละค่ะ ว่าพ่อแม่ของเราไม่เคยผิดคำพูด ลองนึกภาพดูนะคะว่าเวลาที่ลูกพูดถึงเราแบบนี้ มันน่าชื่นชมแค่ไหน
5. สนับสนุนให้ลูกช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด
การให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำว่าควรทำอย่างยิ่งค่ะ ซึ่งการให้ลูกช่วยเหลือตัวเองในที่นี้ หมายถึงการฝึกให้ลูก ๆ สามารถดูแลตัวเองได้ตามวัยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสามารถบอกปวดห้องน้ำได้ และไม่ต้องใส่แพมเพิร์สในวัยเข้าเรียนอนุบาล สามารถทานอาหารได้เอง สามารถบอกความต้องการ และขอความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงมีการมอบหมายงานบ้าน ให้ลูก ๆ รับผิดชอบตามวัยของเขาค่ะ เช่น ซักชุดชั้นในเอง กวาดบ้าน ถูบ้าน หุงข้าว ซึ่งการฝึกสิ่งเหล่านี้ให้ลูก จะทำให้ลูกสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเราตลอดเวลา และเมื่อวันหนึ่งที่เขาต้องไปอยู่ด้วยตัวเอง หรือวันหนึ่งที่ไม่มีเรา เขาจะสามารถใช้ชีวิตได้ปกติสุขอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไปเสียก่อน รวมไปถึงในวันที่เขาล้มเหลว ผิดพลาด เขาจะไม่ยอมแพ้ และพยายามช่วยเหลือตัวเองจนผ่านพ้นสถานการณ์เช่นนั้นมาได้ในที่สุดค่ะ
*บทความแนะนำ “10 วิธีสร้างวินัย ไม่แปลกใจที่กลายเป็นคนประสบความสำเร็จ”
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
Yorumlar