top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เปิดบันทึกความคิดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โลกที่คนทั่วไปไม่อาจเข้าถึง


โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า โรคฮิตที่กำลังมาแรงติด 5 อันดับแรก ไม่ทิ้งห่างจากโรคหัวใจมากนัก ซึ่งโรคนี้มักมีภาวะที่สารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ขาดฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกมีความสุข จนทำให้รู้สึกเศร้าและไร้ซึ่งแรงกำลังที่จะมีชีวิตอยู่ การบำบัดจึงต้องรับประทานยาควบคู่กับการได้ปรึกษาและบำบัดกับนักจิตบำบัดหรือนักจิตวิทยาอย่างสม่ำเสมอ โรคซึมเศร้ากลายเป็นโรคที่เริ่มพบได้มากขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย จนลุกลามไปถึงเด็กประถมก็มี อย่างน้อยเราก็มีข่าวดีอย่างหนึ่งที่แนวโน้มในปัจจุบันคนพูดถึงและรู้จักโรคนี้กันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม น้อยคนนักที่จะเข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจริงๆ และรู้วิธีที่จะสื่อสารและรับมือกับผู้ป่วยได้อย่างถูกวิธี สิ่งที่น่าเศร้าในมุมมองของผู้เขียนนั้น พบว่าโลกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากับคนที่ไม่ป่วย อยู่ห่างกันจนไม่อาจจะเข้าใจกันและกันได้ แม้กระทั่งคนในครอบครัวด้วยกันเอง และยิ่งน่าเศร้าซ้ำเข้าไปอีก เมื่อคนใกล้ตัวของผู้ป่วยบางคนพยายามยับยั้งความตั้งใจที่จะไปพบจิตแพทย์ ด้วยความเข้าใจผิดว่า คนที่ไปพบจิตแพทย์คือ “คนบ้า” อีกทั้งเนื่องด้วยเพราะไม่เข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนทั่วไปจึงมีแนวโน้มจะตัดสินอาการเหล่านั้นจากมุมมองของตัวเอง ซึ่งคิดว่าอาการป่วยก็เหมือนความรู้สึกเศร้าที่ใคร ๆ ก็ต้องเคยเผชิญ จึงทำได้เพียงแค่แนะนำอย่างตื้น ๆ เช่น “อย่าคิดมาก” “เดี๋ยวก็หาย” “สู้ ๆ นะ” “อย่าอ่อนแอสิ” “คิดบวกเข้าไว้” “ไปปฏิบัติธรรมสิ” ก็จะดีขึ้น หรือในทางลบกว่านั้นก็อาจคิดว่า “สำออยรึเปล่า” “เรียกร้องความสนใจมั้ง” “ขาดความอบอุ่นเหรอ” แต่หารู้ไม่ว่า โลกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากับคนที่ไม่ได้ป่วยนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง บางครั้งพวกเขาไม่ได้อยากจะตกอยู่สภาพเช่นนั้น สภาพที่เหมือนอยู่ในหลุมลึกดำมืดที่หาทางขึ้นไม่เจอ และการมีชีวิตอยู่ในแต่ละขณะของพวกเขานั้นยากลำบากมากแค่ไหน อีกทั้งพวกเขายังรู้สึกผิดที่ต้องกลายเป็นภาระหรือทำให้คนใกล้ตัวเดือดร้อน

หากคนอื่นไม่เข้าใจผู้ป่วย จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยถอยห่างออกไปไกลกว่าเดิมอีก

แม้ผู้เขียนจะเรียนจิตวิทยาและทำงานพัฒนาคนมาโดยตลอด แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริง จนกระทั่งได้มีโอกาสพูดคุยและรับฟังสิ่งที่พวกเขาบอกเล่าออกมาจากปากของตัวเอง เด็กสาวคนหนึ่งปรากฏตัวในสภาพเหนื่อยล้า ดูเหมือนเธอจะไม่สนใจดูแลหน้าตา ทรงผม หรือการแต่งกายของตัวเองเท่าไหร่นัก ภายใต้แววตาที่ดูเศร้าสร้อยตลอดเวลา เธอเปิดใจว่า ทุกวันคือความยากลำบากสำหรับเธอ ที่ต้องฝืนตื่นขึ้นมาเพื่อมีชีวิต ที่ต้องฝืนยิ้มให้คนที่รักเธอเพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอโอเค (ทั้งที่ในใจนั้นไม่โอเคอย่างมาก) เธอพูดในขณะที่มีน้ำตาคลอเบ้า ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเหมือนได้เข้าไปในโลกของเธอเป็นครั้งแรก

หญิงสาวอีกคนที่มีชีวิตครอบครัวพร้อมหน้า มีสามีที่น่ารัก และลูกที่เป็นเด็กดี แต่ตัวเองกลับเปราะบางต่อสิ่งที่มากระทบตลอดเวลา นานนับหลายปีกว่าเธอจะรักษาตัวเองจนหาย จากการพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองกลับมาเป็นคนที่สดใสคนเดิม เธอจะอ่อนแอ สับสน และทำอะไรไม่ถูกทุกครั้งที่มีเรื่องราวมากระทบจิตใจ จนคนรอบข้างมองว่าเธออ่อนไหวเกินไป เครียดเกินไป หรือเศร้ามากเกินกว่าคนทั่วไปจะรู้สึกกัน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนมากจะบอกว่าพวกเขาเหนื่อยกับการมีชีวิต บางคนจึงมีความคิดอยากจะจบชีวิตตัวเองเพื่อหนีจากความทุกข์ที่เผชิญอยู่ เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากที่รู้สึกผิดที่ต้องเป็นภาระของคนรอบข้าง และทำให้คนในครอบครัวต้องเป็นทุกข์ตามไปด้วย เพื่อให้เข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น ผู้เขียนได้ขออนุญาตนำบันทึกของบุคคลสองท่าน ที่บันทึกไว้ ณ ขณะที่กำลังป่วยและอ่อนแอ มาเผยแพร่เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้เข้าใจความคิดและโลกของคนซึมเศร้ามากขึ้น

 

บุคคลแรก ไม่ประสงค์ออกนาม เธอโพสความรู้สึกของเธอผ่านโลกโซเชียล ซึ่งผู้เขียนได้ขอนำส่วนหนึ่งมาไว้ที่นี่ ดังนี้ ...

“อยากจะขอเล่าอะไรนิดนึง ถึงความเป็นไปของโรคที่เราเป็นในตอนนี้ มีหลายคน(ที่ไม่เข้าใจ) ตั้งคำถามว่า อกหักหรือเปล่า? คิดไปเองหรือเปล่าว่าป่วย? เครียดมากไปรึป่าว? ทำไมถึงคิดว่าป่วย ลองไปเที่ยวไหม นั่งสมาธิไหม ทำไมรู้ว่าป่วยนานแล้วถึงไม่ไปหาหมอ ฯลฯ อยากจะบอกว่า สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นด้านบน อะไรที่มนุษย์คนนึงพอจะนึก และหาทางออกให้ตัวเองได้ เราได้ลองทำมาหมดแล้ว และเราไม่ได้อกหักอะไร เครียดมากไปไหม มีบ้างประปรายตามประสาของมนุษย์ เราเชื่อว่าคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ทุกคน นอกจากจะต้องต่อสู้เพื่อใช้ชีวิตให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมรอบข้างแล้ว ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องต่อสู้กับใจตัวเองในทุกๆ วัน เพื่อให้ตัวเองตื่นขึ้นทุกเช้า แล้วลุกไปทำงาน เพื่อให้ตัวเองทานอาหารได้อร่อย เพื่อให้ตัวเองนอนหลับได้ เพื่อให้ตัวเองยิ้มอย่างมีความสุขเมื่อได้ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว หรือเมื่อทำสิ่งที่ชอบ แต่รู้ไหมว่ามันเหนื่อยมากๆ เราเริ่มเป็นคนเก็บตัวตั้งแต่มัธยมมาเรื่อยๆ จนโต พูดน้อย จะไปไหนแต่กับคนที่เราไว้ใจจริงๆ เท่านั้น ซึ่งภายนอกทุกคนจะดูเราไม่ออกเลย เพราะเราดูปกติมากๆ ตลก มีมุกขำๆ มาพูดเรื่อยๆ แต่เรากลับรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ในใจลึกๆ ตลอดเวลา เหม่อลอย สมาธิสั้น นอนเยอะเกินไป หรือไม่ก็นอนน้อยไปเลย เราเคยตัดสินใจ ฆ่าตัวตายสองครั้ง (เมื่อหลายปีก่อน) ซึ่งมันอาจจะมาจากความผิดหวังในตัวเองหลายๆอย่างที่สะสม ทั้งอกหัก รู้สึกไม่มีค่า ไม่มีใครรัก มันรวมๆ กันจนเกิดเป็นการกระทำที่โคตรผิด .....โดยเราได้ลงมือทำไปแล้ว แต่ไม่สำเร็จ.. - ครั้งแรก ด้วยการใช้เชือกรองเท้าผูกคอตัวเองในห้องน้ำ แต่สักพักเชือกก็ขาดขณะที่เรากำลังจะหมดลมหายใจคงเป็นโชคดีของเราละมั้ง แต่ครั้งแรกก็ผ่านไปแบบไม่สำเร็จ - ครั้งที่สอง เราอัดยานอนหลับที่ได้จากตอนรักษาไมเกรนเข้าไปบวกกับยาพารา สุดท้ายหลับไปสองวัน ตื่นขึ้นมาแบบปวดหัวสุดๆ แต่ก็ไม่ตายแถมสภาพแย่ลงไปกว่าเดิมอีก หลังจากนั้นเราก็เลิกพยายามฆ่าตัวตายอีก แต่ในหัวก็มีแอบวูบคิดขึ้นมาว่า ซื้อปืนดีไหม หรือกระโดดน้ำดีไหม เหนื่อยจัง ทำไมต้องมีชีวิตอยู่ด้วย แต่ก็ดีใจมากที่หลังจากนั้นไม่เคยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นอีก และมีชีวิตอยู่มาจนถึงตอนนี้... เราพยายามใช้ชีวิตแบบคนปกติ แต่พอเจอเรื่องแย่ๆ นอยด์ๆ ก็จะแย่กว่าคนปกติ 10 เท่า เวลาร้องไห้ก็จะหนักและหยุดยาก เวลาอยู่ในสังคมกับคนหมู่มากก็พยายามจะยิ้ม หัวเราะ ตลก มีมุกขำๆ แต่พอกลับมาอยู่คนเดียว เราจะดูไร้พลังและเหนื่อยมาก สิ่งนี้จะมีแค่คนข้างๆ เท่านั้นที่เห็น ตอนนี้มีสัญญานที่ดีขึ้นกับตัวเรามาก คือเรารู้สึกว่าเราอยากมีชีวิตอยู่ เพื่อเห็นวันพรุ่งนี้... อยากมีความสุขแบบคนอื่นที่ปกติ อยากกินข้าวอร่อย อยากนอนหลับ อยากไปเที่ยวแล้วมีความสุข เราไม่อยากตาย นี่คงจะเป็นสัญญานที่ดีที่สุดในรอบหลายปีแล้ว ที่เราอยากจะเยียวยาตัวเองให้มีความรู้สึกมีความสุขแบบที่มนุษย์คนนึงควรได้มี เพราะสิ่งนี้แหละ ทำให้เราเริ่มมองเห็นแล้วว่าเราต้องรักษา เราต้องหาย

ขอบคุณใครก็ตามที่อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วพอจะเข้าใจได้บ้างแล้วว่า เราเจออะไรมาบ้าง ขอบคุณหลายๆ ท่านที่ไม่เพิกเฉยต่อสัญญานการขอความช่วยเหลือของเรา เร็วๆ นี้เราจะไปหาหมอ อย่างน้อยถ้าวันนึงเราหายจากโรคนี้แล้ว (เราเชื่อว่าเราต้องหาย 🙂 ) เราอยากบอกว่า ความช่วยเหลือ และน้ำใจของทุกคนในตอนนี้มีส่วนช่วยเป็นพลังให้กับเรามากๆ เลยนะ ขอบคุณทุกคนอีกครั้งจริงๆ ค่ะ”

 

ส่วนบุคคลที่สอง เป็นผู้กำกับซีรีย์ชื่อดัง คุณกาญจนพันธุ์ มีสุวรรณ ซึ่งอนุญาตให้ผู้เขียนและ iStrong สามารถเปิดเผยชื่อและเรื่องราวทั้งหมดได้ ซึ่งส่วนที่นำมาให้อ่านกันนี้ คือส่วนหนึ่งของบันทึกประจำวัน ณ ขณะที่คุณกาญกำลังบำบัดและรับประทานยากับจิตแพทย์ ดังนี้ ...

บันทึกความรู้สึก

20 มกราคม 2562 วันแรกที่กินยา เป็นยาต้านเศร้ากับยาลดอาการไฮเปอร์ (หมอบอกว่าจะช่วยในการทำงานให้มีสมาธิมากขึ้น มีโฟกัสมากขึ้น) ตื่นเช้ามารู้สึกไม่ค่อยโอเค จัดการกับอะไรไม่ได้ รับมือกับปัญหาอะไรไม่ได้ ว่างเปล่า ตอนอาบน้ำรู้สึกเศร้า น้ำตาไหล เป็นแบบนี้มาเกือบเดือนแล้ว ตัดสินใจบอกแม่กับพี่เอว่าเป็นโรคซึมเศร้า เค้าก็เป็นห่วงกัน ถามอาการ ความรู้สึก ก็เล่าให้เค้าฟังไปตามจริง พี่เอแนะนำหมอคนนึงมา บอกว่าดี เค้าเคยไปปรึกษาเรื่องพารานอยด์ แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไร ไลน์บอกปอ (เพื่อนที่ตอนนี้ทำงานด้วยกัน) ถึงสิ่งที่เป็นอยู่ จะได้พอเข้าใจสถานการณ์ตอนทำงาน ยังไม่ค่อยมีสมาธิกับการทำงาน เลยนัดบีตอนบ่ายสามให้มาช่วยแก้บทหนังให้เสร็จ ที่ร้านปากหวานตรงศูนย์กีฬา ตอนออกไปลองแวะไปดูคลินิกหมอคนใหม่ที่พี่แนะนำ ว่าอยู่ตรงไหน ไม่ไกลบ้านเท่าไหร่ 20.30 น. กลับบ้าน นอนไม่หลับ เข้านอน 23.30 กว่าจะหลับประมาณตี 4 ตอนกลางคืนรู้สึกไม่โอเค 21 มกราคม 2562 ตื่นเช้ามาด้วยความรู้สึกเหมือนเดิม จนถึง 10 โมง ที่ต้องไปที่ King Power Blockshot ก็เพลินๆ ไม่ได้คิดอะไร เสร็จประมาณเที่ยง ไปกินข้าวกับดำ MK ที่ makro บางกระบือ 15.00 น. กลับถึงบ้าน รู้สึกไม่อยากทำอะไร นั่งๆ นอนๆ จนถึง 5 โมงเย็น ค่อยโทรเคลียร์เรื่องบัญชีกับพี่ลิงค์ , โทรนัดคลินิกหมอคนใหม่ , ไลน์แคนเซิลงานพม่า , ไลน์บอกพี่อิ๋ว กลางคืนไม่ค่อยโอเค กว่าจะหลับประมาณ 2 ชั่วโมง *วันนี้หน่องบอกจะให้กำกับงานภูเก็ตแทน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกยินดีอะไร 22 มกราคม 2562 ตอนเช้าพาแม่ไปกายภาพที่ศูนย์สิรินธร กลับถึงบ้านประมาณ 11 โมง ยังรู้สึกเหมือนเดิม ไม่ค่อยโอเค แต่ก็ทำงานได้มากขึ้น มีสมาธิขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับปกติ ช่วงนี้แม่ใจเย็นและใจดีขึ้นมาก วันนี้มีช่วงที่รู้สึกว่า การมีชีวิตอยู่มันยากจัง ไม่รู้จะอยู่ทำไม ไม่มีจุดหมาย รู้สึกว่างเปล่า แต่ก็พยายามไปทีละวัน เดี๋ยวมันก็คงจะดีขึ้น ตอนเย็นออกไป King Power กลับถึงบ้านทุ่มกว่า กว่าจะหลับใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ช่วงเวลาตื่นนอนกับช่วงเวลาก่อนนอนของทุกๆ วันเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุด 23 มกราคม 2562 ตื่นมาด้วยความรู้สึกเหมือนเดิม บ่ายสอง ไปหาบี พาแมวบีไปฉีดวัคซีน / กินก๋วยเตี๋ยวเรือ 16.30 น. ซาวน่า ขัดผิว นวดน้ำมัน ร้านตรงบ้านบี บีจองไว้ให้ ตอนซาวน่า กับขัดผิว รู้สึกดีเหมือนกัน ได้มาทำกิจกรรมของคนที่อยากมีชีวิต 5555 แต่ตอนนวดน้ำมัน อยู่ๆ ก็รู้สึกเศร้าขึ้นมา 20.30 น. ออกไป King Power ออกกอง เลิกกองตี 4 กลับถึงบ้านตี 5 วันนี้หลับง่าย 24 มกราคม 2562 ตื่น 11 โมง เหมือนจะไม่สบายนิดหน่อย 15.30 น. ออกจากบ้านไปหาหมอคนแรกตามนัด แวะรับบีที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ หมอให้ยามากินต่ออีก 3 อาทิตย์ นัดครั้งต่อไป 11 กุมภา จะให้คุยกับนักจิตเวชด้วย ไปส่งบี แวะกินข้าวต้มตรงหมู่บ้านธนินธร ไปถึงบ้านบีจะคุยงานภูเก็ต แต่หลับ บีไม่ปลุก ตื่นมา 4 ทุ่มกว่า งงๆ รู้สึกไม่ค่อยโอเค กลับบ้านเลยไม่ได้คุย กลับถึงบ้าน กว่าจะหลับประมาณ 3-4 ชั่วโมง 25 มกราคม 2562 อยู่บ้าน พยายามคิดงานภูเก็ต ไม่ค่อยมีสมาธิเท่าไหร่ 15.30 น. ออกจากบ้านไปไทยประกันชีวิต แวะนั่งทำงานร้านกาแฟอินทนิล ปั๊มบางจากราชพฤกษ์ คลินิกหมอคนใหม่โทรมาคอนเฟิร์มนัด 18.00 น. กลับบ้าน เหมือนเดิม กลางคืนรู้สึกไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ หลับยาก ทรมาน 26 มกราคม 2562 ตื่นมามารู้สึกหน่วงๆ นอนเฉยๆ บนเตียงอยู่ซักชั่วโมงนึงได้

เที่ยง ออกจากบ้านไปหาหมอที่คลินิกใหม่ ได้คุยกับหมอคนใหม่แล้วโอเค หมออธิบายดี เอายาเก่าให้หมอดู ให้ยามาเพิ่มตัวนึง เป็นยานอนหลับ หมอบอกว่าอาการจะดีขึ้น 2-4 สัปดาห์หลังจากเริ่มกินยา และน่าจะต้องกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี เพราะคือการเป็นครั้งที่ 3 แปลว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเป็นซ้ำอีก แม้จะดูว่าหายแล้ว ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนมารักษาต่อกับหมอคนใหม่ ออกจากคลินิก แวะกินข้าว นั่งทำงานร้านกาแฟ

16.00 น. รับบีแถวนวลจันทร์ นั่งทำงาน กินข้าวที่บ้านบี ตอนขับรถกลับบ้าน รู้สึกซึมๆ เศร้าๆ น้ำตาไหล ก่อนนอนคืนนี้กินยานอนหลับ แต่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเหมือนเดิม กว่าจะหลับประมาณ 2 ชั่วโมง ———— ในระหว่างที่เจอกัน คุณกาญแบ่งปันความคิด ณ ขณะที่กำลังป่วยว่า ตอนนั้นรู้สึกเหนื่อยกับการใช้ชีวิตจัง ทำไมทุกคนรอบตัวถึงคาดหวังกับเขานัก แม้กระทั่งสุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยงที่บ้าน ก็ยังคาดหวังให้เขาเป็นเพื่อนเล่น ทั้ง ๆ ที่เขาแทบจะหมดแรงแล้ว ณ ปัจจุบัน คุณกาญหายจากโรคซึมเศร้าแล้ว ด้วยการดูแลตัวเองและมีวินัยในการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของจิตแพทย์ พร้อมทั้งทำจิตบำบัด และแสวงหาวิธีฟื้นฟูจิตใจตัวเองในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้กลับมามีความสุขได้อีกครั้งในที่สุด พร้อมกันนี้ คุณกาญยังมีโอกาสกำกับหนังสั้น ที่เปิดเผยเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหนังเรื่องนี้จะช่วยให้คนทั่วไปได้เข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น รวมทั้งวิธีการปฏิบัติตัวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างถูกวิธี จึงขออนุญาตนำมาลงไว้ให้ดูกันด้วยค่ะ

 

ดังนั้น หากคุณพบว่า คนใกล้ชิดของคุณมีอาการที่เข้าข่ายโรคซึมเศร้า >> เช็ค 25 อาการเสี่ยงโรคซึมเศร้า อย่าลังเลที่จะพาพวกเขาเหล่านั้นไปพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาอย่างทันท่วงที และขอให้ตระหนักว่า ไม่ว่าคำแนะนำที่ดีแค่ไหนก็ตาม ไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ นอกจากการนั่งรับฟังอยู่ข้างๆ อย่างตั้งใจและปรารถนาจะเข้าใจพวกเขาจริง ๆ กุมมือ สัมผัส โอบกอด เพื่อส่งความรู้สึกดี ๆ ไปให้กับพวกเขา >> 7 วิธีอยู่เคียงข้างผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และขอให้ตระหนักว่า โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ ขอเพียงยอมรับ เข้าใจ และยินดีที่จะปฏิบัติตัวเพื่อรักษาและฟื้นฟูตัวเองให้กลับมามีความสุขได้อีกครั้ง

 

iStrong ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย Contact : https://www.istrong.co/service

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page