top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

How to อยู่เคียงข้างผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้โดยที่คนดูแลไม่ซึมเซาตามไปด้วย



โรคซึมเศร้าเป็นอาการทางจิตใจที่ผู้ป่วยมักจะเกิดความรู้สึกทุกข์ทรมาน และบ่อยครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่รู้ว่าทำไมตัวเองถึงรู้สึกหม่นหมองมีความคิดทางลบอยู่เกือบตลอดเวลา เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถบอกคนรอบข้างได้ว่าเกิดอะไรขึ้นอยู่ภายในใจของผู้ป่วยมันจึงเป็นความยากสำหรับทั้งสองฝ่าย เกิดเป็นความหนักอกหนักใจทั้งฝ่ายผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งผู้ดูแล


ซึ่งปัญหามักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ดูแลเกิดความเหนื่อยล้าโดยเฉพาะทางอารมณ์ เพราะอาจจะเผลอไปแสดงท่าทีบางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกน้อยใจหรือเชื่อไปว่าตนเองเป็นภาระของคนรอบข้าง ทั้งที่ผู้ดูแลไม่ได้รู้สึกแบบนั้นเลย เพียงแต่อยู่ในช่วงพลังน้อยต้องการพักเพื่อชาร์จพลังเท่านั้นเอง


ความสามารถในการฟื้นตัวหรือชาร์จพลังของผู้ดูแลจึงมีความสำคัญมาก เพราะคนเราแม้จะแข็งแรงแค่ไหนแต่ทุกคนก็เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ต้องการช่วงเวลาพักเหมือนกัน บทความนี้จึงอยากชวนให้ผู้ดูแลทุกคนอย่าลืมหาเวลาดูแลใจตัวเองด้วยวิธีการดังนี้


1. หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนว่าคุณเองก็เริ่มไม่ไหว ได้แก่

  • รู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องทำหรือกังวลอยู่ตลอดเวลา

  • รู้สึกเหนื่อยง่าย

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

  • น้ำหนักเปลี่ยนแปลง

  • หงุดหงิดโมโหง่าย

  • ความสนใจกระตือรือร้นต่อสิ่งที่ชอบลดลง (ไม่รู้สึกสนุกกับมันแล้ว)

  • รู้สึกเศร้า

  • ปวดหัวหรือปวดตามร่างกายทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรที่ใช้ร่างกาย

  • ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดมากขึ้น (รวมถึงยารักษาโรคบางชนิด)

  • ไม่ไปพบแพทย์เมื่อตัวเองมีอาการป่วย


2. ยอมรับการช่วยเหลือจากคนอื่น ยอมเป็นฝ่ายได้รับการดูแลหรือช่วยเหลือจากคนอื่นบ้าง


3. โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ แทนที่จะโฟกัสว่าตัวเองบกพร้องหรือทำอะไรได้ไม่ดีพอ


4. ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในแต่ละวัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทำสำเร็จได้ไม่ยาก และปฏิเสธเมื่อมีคนมาขอให้ทำสิ่งที่ไม่อยากทำหรือทำแล้วเหนื่อยเกินไป


5. มองหาเครือข่ายหรือบริการ ที่สามารถเป็นตัวช่วยให้คุณได้ เช่น แม่บ้านทำความสะอาด


6. เข้าร่วม support group หมายถึงกลุ่มที่รวมเอาผู้คนที่มีประสบการณ์คล้ายกันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งนอกจากจะได้เพื่อนใหม่ ๆ แล้ว ยังช่วยให้ได้มุมมองที่หลากหลายจากการแลกเปลี่ยนกับคนอื่นอีกด้วย


7. ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวหรือเพื่อน ที่ให้พลังบวกกับคุณบ้าง


8. ดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรง โดยเริ่มต้นที่การดูแลสิ่งที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่ การกิน การนอน และการออกกำลังกาย


9. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่รู้สึกว่าคุณเองก็เริ่มมีอาการบางอย่างที่สะท้อนถึงการมีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงเมื่อมีความรู้สึกบางอย่างที่รบกวนคุณ เช่น วิตกกังวล รู้สึกผิด


ทั้งนี้ ผู้เขียนเองในฐานะที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ดูแล เช่น ญาติ แฟน เพื่อนสนิท ก็อยากจะขอเป็นคนกลางที่อยากจะช่วยสื่อสารทำความเข้าใจกับทั้งสองฝ่าย ดังนี้

สำหรับผู้ดูแล:

  • อย่าลืมว่าคุณเองก็เป็นมนุษย์ที่ต้องการการพักผ่อนและการได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นด้วยเหมือนกัน

  • คุณทำดีที่สุดแล้วเท่าที่คน ๆ หนึ่งที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญจะสามารถทำได้ ดังนั้น แม้ว่าคุณอาจจะเผลอทำบางอย่างที่ผิดหลักการทางจิตวิทยา แต่ถ้าหากทุกอย่างมาจากเจตนาที่ดีจริง ๆ ก็อย่าลืมให้อภัยตัวเองและบอกว่าเองว่าคุณสามารถไปพักแล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

  • “Put Your Oxygen Mask on First, Before Assisting Others.” อย่าลืมสวมหน้ากากออกซิเจนให้กับตัวเองก่อนถึงค่อยไปสวมให้คนที่อยู่ในความดูแลของคุณ พยายามสังเกตตนเองว่ายังไหวหรือไม่ เพราะหากคุณเองก็กำลังอยู่ในวิกฤตหรือมีความเครียดเกิดขึ้นกับตนเอง การที่คุณยังไม่หันมาดูแลตัวเองให้มีพลังเพิ่มขึ้นมันอาจจะทำให้ทั้งคุณและผู้ป่วยแย่ไปด้วยกันทั้งคู่


สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า:

  • หากคุณมีความคิดว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือคนรอบข้าง สิ่งแรกที่คุณทำได้เลยก็คือการไปพบจิตแพทย์/นักจิตวิทยาตามนัดหมาย รวมถึงกินยาดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของคุณตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมันอาจจะดูเล็กน้อยสำหรับคุณ แต่ความจริงแล้วมันไม่เล็กน้อยเลย เพราะคุณสามารถช่วยเหลือคนรอบข้างของคุณได้มากจากการทำสิ่งเหล่านี้

  • ไม่ใช่ทุกความเหนื่อยล้าที่เกิดกับผู้ดูแลมาจากคุณ บ่อยครั้งผู้ดูแลก็มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง ซึ่งมันเป็นปัญหาในส่วนของเขาที่คุณไม่ได้เป็นสาเหตุของปัญหาเลย ดังนั้น ขอให้พยายามมองทุกสิ่งตามความเป็นจริงว่าคุณไม่ใช่ตัวปัญหาหรือภาระ แต่ในบางครั้งผู้ดูแลเองก็มีปัญหาของตัวเองที่ทำให้ต้องหายหน้าไปจากคุณบ้างในบางเวลาเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง

ท้ายนี้ ผู้เขียนอยากเน้นย้ำว่าโรคซึมเศร้าเป็นอาการ “ป่วย” ชนิดหนึ่งค่ะ คล้ายกับเวลาที่คุณป่วยเป็นไข้หวัด คุณเองก็ไม่ได้อยากให้น้ำมูกไหลเพราะว่ามันดูสกปรกเปรอะเปื้อน หรือมีอาการคัดจมูกที่ทำให้คุณรู้สึกทรมานจากอาการหายใจลำบาก โรคซึมเศร้าก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกันค่ะ


ผู้ป่วยเองก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะมีความคิดลบ มองตัวเองไม่มีค่า และไม่สามารถหยุดอาการที่ทำให้ตนเองรู้สึกทุกข์ทรมานได้ จึงจำเป็นต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งหากผู้ดูแลมีความเข้าใจในส่วนนี้และลดความคาดหวังที่มีต่อผู้ป่วยลง


เช่น อยากให้กลับมาร่าเริงโดยทันทีหลังจากพบจิตแพทย์ครั้งสองครั้ง แต่ปรับมุมมองให้มองผู้ป่วยตามความเป็นจริงว่าเขากำลังอยู่ในช่วงที่อาการไม่ดี มีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษาเยียวยาระยะหนึ่งก่อน ก็จะช่วยให้ผู้ดูแลรู้สึกเครียดน้อยลง ซึ่งข่าวดีคือ โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่รักษาหายได้ค่ะ


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเอง ให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่



สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยา

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page