top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 เทคนิคจิตวิทยาในการดูแลสุขภาพจิตผู้ป่วย Covid – 19 ให้แข็งแกร่ง



เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของรัฐบาลและศูนย์ EOC กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ประจำวันยอดผู้ป่วย Covid – 19 รายใหม่ พบผู้ติดเชื้อรวม 23,557 ราย ทางด้านกรมควบคุมโรครายงานผลตรวจ ATK พบผู้เข้าข่ายเพิ่มอีก 22,240 ราย นั่นหมายความว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ป่วย Covid – 19 โดยประมาณอยู่ที่ 45,797 ราย ซึ่งดิฉันเองพร้อมสมาชิกครอบครัว ก็ได้กลายเป็นผู้ป่วย Covid – 19 เพิ่งออกจาก Hospitel เมื่อไม่นานมานี้เองค่ะ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว สังเกตเห็นว่าเราจะมีความเครียดอยู่ 3 ระยะ ที่สั่นคลอนสุขภาพจิตของเรา ก็คือ

  • ระยะที่ 1 ความเครียดในช่วงรอฟังผลตรวจ Covid – 19

โดยขอยกให้ความเครียดในช่วงนี้ เป็นความเครียดที่ทำร้ายสุขภาพจิตที่สุดค่ะ เพราะมันจะเกิดความวิตกกังวลหลายสิ่ง ทั้งเรื่องความปลอดภัยของคนในบ้าน ว่าถ้าเราติด คนในบ้านจะติดไปกับเราไหม ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว อย่างเช่นดิฉัน จะกังวลมากว่าใครจะดูแลลูกให้เราเป็นเวลาตั้ง 10 วัน ทั้งเรื่องงานที่ค้างคา และเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งหากกรมสุขภาพจิต จัดนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ หรือทางออนไลน์ให้แก่ผู้รอผลตรวจในช่วงนี้ด้วยจะดีมากเลยค่ะ

  • ระยะที่ 2 ความเครียดช่วงรักษาตัว

เป็นความเครียดที่เบาที่สุดใน 3 ระยะ สำหรับตัวดิฉันเอง เพราะเป็นระยะที่มีความชัดเจนว่าตกลงเราเป็นผู้ป่วย Covid -19 และมีใครในครอบครัวติดไปกับเราบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด ก็คือ ความเป็นห่วงคนในครอบครัวค่ะทั้งที่ติดเชื้อรักษาอยู่กับเรา ติดเชื้อรักษาต่างสถานที่ หรือยังไม่ติดเชื้อก็ตาม แต่สำหรับบางท่านที่มีอาการแทรกซ้อน หรืออาการหนัก ช่วงนี้ก็จัดว่าเป็นช่วงวิกฤตต่อสุขภาพจิตที่สุดเหมือนกันนะคะ ดังนั้นนอกจากการดูแลสุขภาพการโดยทีมแพทย์แล้ว เราควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพใจโดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาด้วยเช่นกัน

  • ระยะที่ 3 ความเครียดเมื่อกลับมาใช้ชีวิตปกติ

เมื่อเรารักษาตัวครบกำหนดและกลับมาสู่โลกความจริง ก็จะแบ่งผู้ที่เคยติดเชื้อออกเป็น 2 แบบ ค่ะ คือคนที่หายดี กับคนที่เจอภาวะ Long Covid สำหรับคนที่หายดีนั้น ก็จะกลับมาเจอความเครียดประจำวันเหมือนเดิมที่เคยเจอ เช่น ความเครียดจากภาระงาน ความเครียดเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ที่เพิ่มเติมคือความเครียด ที่เกิดจากการรับแรงต้านของคนในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ไม่ได้สนิทกับเรามาก เช่น ป้าข้างบ้าน คุณพี่แผนกข้างเคียง ที่จะแวะเวียนมาถามเราว่า “ติดจากใคร?” “ติดจากไหน?” “ติดมาได้อย่างไร?” เราก็จะมีความในใจเป็นหมื่นล้านคำ ตอบกลับไปได้แค่ยิ้มแห้ง ๆ ส่วนคนที่เกิดภาวะ Long Covid ก็จะเผชิญความเครียดอีกรูปแบบหนึ่งที่รุนแรงกว่ามาก เพราะสภาพร่างกายไม่เหมือนเดิม ทำให้ใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิม เหนื่อยง่ายกว่าเดิม รู้สึกป่วยตลอดเวลา ซึ่งหากเป็นนาน ๆ ก็จะพาลทำให้เสียสุขภาพจิตได้ค่ะ


จากความเครียดที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งจะบั่นทอนความสุขในชีวิตและสุขภาพจิตของพวกเรา ดิฉันจึงได้รวบรวมข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา ในการดูแลสุขภาพจิตผู้ป่วย Covid – 19 ให้แข็งแกร่ง มาฝากคุณผู้อ่านกันค่ะ


1. รู้ทันอารมณ์ตัวเอง


การมีสติรู้ตัวเองอยู่เสมอสามารถช่วยเราได้มากในการควบคุมอารมณ์ตัวเองค่ะ ไม่ให้เศร้าเกินไป กังวลเกินไป หรือเครียดเกินไป เมื่อเรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง เราก็สามารถจัดการอารมณ์ของเราได้ไวและเหมาะสมค่ะ เช่น ถ้าเศร้าก็หากิจกรรมที่เราชอบทำ หรือโทรหาคนที่เราสามารถเล่าความในใจให้ฟังได้ เพื่อลดความเศร้าในใจ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาออนไลน์ เพื่อดูแลสุขภาพจิตอย่างยั่งยืนค่ะ


2. หมั่นผ่อนคลายจิตใจ


เมื่อเรารู้สึกไม่สบายใจ นักจิตวิทยาก็มีเทคนิคผ่อนคลายจิตใจที่หลากหลายมาฝากันค่ะ เช่น การผ่อนคลายลมหายใจ การเจริญสติ (Mild Fullness) การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Relaxation) การใช้จินตนาการช่วย หรือการเบี่ยงเบนความสนใจไปยังกิจกรรมอื่นที่ช่วยเสริมความรู้สึกทางบวกค่ะ


3. หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นความเครียด


สิ่งที่กระตุ้นให้เราเกิดความเครียดได้มากที่สุดในช่วงเป็นผู้ป่วย Covid – 19 ก็คือ สื่อออนไลน์ค่ะ เพราะในโลกออนไลน์มีข้อมูลทั้งจริง ทั้งเท็จ ซึ่งแยกยากมาก และมาไวไปไว รวมถึงในโลกออนไลน์เราจะต้องพบเจอกับข้อความทางลบจากคนแปลกหน้าที่บั่นทอนกำลังใจ เพราะฉะนั้น หากเราลดการอยู่ในโลกออนไลน์ลง มาอยู่ในโลกความจริงมากขึ้น และนำเวลามาพัฒนาตัวเอง เช่น อ่านหนังสือ เรียนออนไลน์ ความเครียดเราจะลดลง และยังได้พัฒนาความสามารถได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ


4. อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่เฉย ๆ


เมื่อร่างกายเราอยู่เฉยๆ ความคิดเราจะโลดแล่น และหากเราไม่มีสติ หรือมีความกังวลในใจมันจะวิ่งเตลิดคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อยจนทำให้เราเสียสุขภาพจิต เพราะคิดมาก คิดไปไกล เช่น กังวลว่าอาการที่เราเป็นอยู่จะหนักขึ้น หรือกลัวว่าเชื้อ Covid – 19 จะลงปอด ทั้งที่ผลตรวจปกติ ดังนั้น หากเราไม่ตั้งใจนอนหลับพักผ่อน เราก็ควรหากิจกรรมให้สมองไปจดจ่อสิ่งอื่นเพื่อจะได้ไม่คิดมากค่ะ เช่น อ่านหนังสือ ดูซีรี่ย์ เล่นเกมพัฒนาสมอง เป็นต้น


5. ดูแลสุขภาพกายควบคู่กับสุขภาพจิต


เมื่อเราติด Covid – 19 นอกจากสุขภาพกายที่ต้องรักษาแล้ว สุขภาพจิตก็สำคัญไม่แพ้กันค่ะ เพราะเมื่อกายป่วย เราย่อมมีความเครียด ความวิตกกังวลตามมาเป็นธรรมดา ดังนั้น นอกจากดูแลร่างกายตามอาการแล้ว การดูแลเยียวยาจิตใจตัวเองให้กลับมาสดใส ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กัน เช่น ออกกำลังกาย หาที่ปรึกษาทางจิตใจ หรือทำกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพจิต เป็นต้นค่ะ


ถึงแม้ว่า Covid – 19 สายพันธุ์โอไมครอนจะติดง่าย แต่หากเราได้รับการรักษาไว เราก็สามารถหายได้ไว แต่ถึงอย่างไรก็ขอให้ระวังภาวะ Long Covid และปัญหาสุขภาพจิตด้วยนะคะ หากต้องการรับคำปรึกษา สามารถโทรหา Istrong ได้เสมอค่ะ พบกันใหม่บทความหน้านะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page