top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Midlife Crisis ชีวิตเปลี่ยนได้อีกในวัยกลางคน : ความสุขอยู่ที่ไหน

ในความเข้าใจของคนทั่วไป การที่คน ๆ หนึ่งมีอายุเข้าสู่วัยกลางคนนั้นมักจะมีภาพลักษณ์ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์สูงกว่าวัยอื่น ๆ มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งในด้านหน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัว ฐานะทางการเงิน และความพึงพอใจในชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาและเธออาจกำลังถูกคุกคามด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤตวัยกลางคน’ หรือ Midlife Crisis อยู่ก็เป็นได้ เหมือนกับชีวิตของบุคคลเหล่านี้


อานนท์เป็นพนักงานบริษัทเอกชนขนาดกลางแห่งหนึ่ง เขาทำงานด้วยความทุ่มเทมาตลอด ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลโครงการสำคัญของบริษัทมากมาย เขามีรายได้และตำแหน่งงานสูงขึ้นก็จริง ในไม่ช้าเขาอาจจะมีโอกาสได้เป็นผู้บริหาร แต่วันหนึ่งหลังจากสูญเสียพี่ชายไปด้วยโรคมะเร็ง อานนท์วางงานตรงหน้าลงและนึกทบทวนชีวิตของตัวเอง เขาอายุไม่น้อยแล้ว อีกไม่นานเขาอาจจะป่วยและจากไปกะทันหันแบบพี่ชายก็ได้ คิดถึงตรงนี้เขาก็รู้สึกเคว้งคว้างอย่างบอกไม่ถูก ไม่แน่ใจอีกต่อไปว่างานที่ทำหามรุ่งหามค่ำทุกวันนี้คือชีวิตที่เขาต้องการหรือไม่ เขาใช้เวลาแต่ละวันครุ่นคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้จนเริ่มมีอาการนอนไม่หลับ วิตกกังวลมากขึ้น รู้สึกอารมณ์ฉุนเฉียวไม่พอใจสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตแม้แต่ภรรยา ในที่สุดทั้งคู่ก็หย่าร้างและอานนท์ลาออกจากงาน ชีวิตเปลี่ยนไปอีกแบบอย่างที่เขาเองก็คาดไม่ถึง


มธุรดายืนมองตัวเองในกระจก ภาพหญิงวัยสี่สิบในชุดข้าราชการคือสิ่งที่พ่อกับแม่ของเธอปรารถนาอยากให้เธอได้สวมใส่และทำอาชีพนี้มาตลอด เธอถูกบ่มเพาะจากครอบครัวให้เติบโตมารับราชการเพื่อความมีหน้าตาและสิทธิสวัสดิการของคนในครอบครัว มธุรดาทำตามนั้นโดยไม่โต้แย้ง เธอทำงานมาเกือบยี่สิบปีจนกระทั่งวันหนึ่งที่เธอรู้สึกว่าการรับราชการไม่เคยทำให้เธอมีความสุขเลย เธออยากเปิดร้านขนมเล็ก ๆ ของตัวเอง อยากทำและใช้ชีวิตในแบบที่เธอพอใจ เมื่อคิดว่าอายุที่มากขึ้นและภาระที่ต้องดูแลพ่อแม่กับลูก ๆ ทำให้ไม่สามารถทำฝันนั้นให้เป็นจริงได้ไม่ว่าในอดีตหรือในเวลานี้ มธุรดาก็รู้สึกเศร้า เธอหมดพลังในการทำงานที่ไม่ได้รัก และหมดหวังในการทำในสิ่งที่อยากทำ ได้แต่หลบเลี่ยงงาน ลางานบ่อยๆ รอเวลาให้ผ่านไปให้ถึงวันเกษียณราชการเท่านั้น


วิชิตเอนหลังพิงเก้าอี้นวม งบการเงินกับรายการสั่งซื้อของเข้าโรงงานวางอยู่ตรงหน้าแต่เขาไม่สนใจจะอ่าน ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเขาไม่รู้สึกอยากบริหารโรงงานที่ตั้งมากับมือนี้แล้ว เขาเคยคิดว่าการได้เป็นเจ้าของกิจการคือสุดยอดความฝันของตัวเอง ในขณะที่เพื่อนคนอื่นเป็นลูกจ้างแต่เขาคือเจ้าของธุรกิจ ในขณะที่เพื่อนคนอื่นทำงานเสร็จกลับบ้านแต่เขายังต้องคิดเรื่องจัดหาเงินทุน ช่องทางการขาย ประสิทธิภาพเครื่องจักร คนงานขาดแคลน การทำการตลาดออนไลน์ ฯลฯ วิชิตคิดว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้เขาอาจจะไม่เลือกตั้งโรงงานแล้วก็ได้ มันไม่คุ้มกับโรคความดันและความเครียดที่เป็นอยู่เลย เขาอยากย้อนเวลาไปตัดสินใจใหม่ อยากเป็นคนธรรมดาที่มีความสุขมากกว่านี้


คุณเคยรู้สึกแบบอานนท์ มธุรดา หรือวิชิตหรือไม่ ? รู้สึกว่าชีวิตเดินทางมาถึงจุดหนึ่งและเริ่มฉุกคิดทบทวนว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการกันแน่ รู้สึกใจหายกับสุขภาพและสภาพร่างกายของตัวเองที่ร่วงโรยลงทุกวัน ผิดหวังกับตัวเองในหลาย ๆ เรื่องที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ เหมือนว่าทำอย่างไรก็ไปไม่ถึงเป้าหมายชีวิตที่ต้องการเสียที อยากมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากความรู้สึกนี้เกิดขึ้นตอนที่คุณใช้ชีวิตจนถึงช่วงที่เรียกได้ว่าวัยกลางคน นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังพบกับสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤตวัยกลางคน’ หรือ ‘Midlife Crisis’ เข้าแล้ว



คำว่าวิกฤตวัยกลางคนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตเคยมีนักจิตวิทยาหลายรายทำการศึกษาในปรากฏการณ์ทางจิตวิทยานี้มาเกือบหกสิบปีแล้ว โดยเอลเลียต ฌาคส์ นักจิตวิทยาชาวแคนาดาศึกษาพบว่าช่วงชีวิตที่คนมีแนวโน้มจะมีความสุขน้อยที่สุดคือช่วงอายุราว 40 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่คนมักมีประสบการณ์สะสมเฉพาะวัยหลายอย่าง เช่น พ่อแม่หรือญาติสนิทเสียชีวิต ความเครียดจากการทำงาน สุขภาพที่เริ่มถดถอย ฌาคส์จึงเรียกประสบการณ์ที่คนในช่วงอายุดังกล่าวพบว่าเป็น Midlife Crisis ทั้งยังมีงานวิจัยสนับสนุนจากแอนดรูว์ ออสวอลด์ จากมหาวิทยาลัยวอร์วิคที่พบเช่นกันว่าความสุขของช่วงเวลาต่าง ๆ ในชีวิตมนุษย์นั้นจะออกมาในรูปแบบกราฟตัว U-shape นั่นคือเรามีความสุขที่ค่อนข้างสูงกว่าวัยอื่น ๆ ในช่วงวัยรุ่นก่อนจะลดต่ำลงมาในช่วงวัยทำงานแล้วจึงค่อยมีความสุขในชีวิตมากขึ้นอีกครั้งตอนสูงอายุ สิ่งที่สังเกตพบได้คือช่วงอายุ 41-50 ปีหรือช่วงวัยกลางคนมักจะเป็นช่วงที่คนมีความสุขน้อยที่สุดโดยเฉลี่ยจากการศึกษาในประชากรหลายประเทศ


อะไรที่ทำให้คนวัยกลางคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข ?

ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นนั้นเราอาจเคยมีความคาดหวังบางอย่างเกี่ยวกับอนาคต เราอาจจะอยากเป็นเจ้าของกิจการ อยากเรียนต่อในระดับสูง อยากมีชีวิตที่ร่ำรวยหรือได้ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร มีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขและดำรงสุขภาพที่ดีให้ยาวนานที่สุด แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตผ่านเวลาไปสักระยะหนึ่งในวัยทำงาน เราจะพบกับความไม่สมหวังหลาย ๆ อย่าง รวมถึงต้องประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การสูญเสียญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง การตกงาน ภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัวและตำแหน่งงาน หนี้สินและค่าใช้จ่าย การย้ายถิ่นฐาน รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป การที่ชีวิตของเราไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้นี่เองที่ทำให้เราเกิดความเครียดสะสม หรือในทางตรงกันข้าม แม้แต่การที่เราได้ในสิ่งที่เคยหวังไว้ก็ทำให้เราเครียดได้ เช่น ได้เป็นเจ้าของกิจการอย่างที่เคยฝันไว้ แต่กลับพบว่าการบริหารธุรกิจไม่ใช่เรื่องสนุกเลย ต้องอดทนกับความเครียดเรื่องคนและเรื่องงานแบบไม่มีวันหยุดพัก หรือพยายามทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ไม่พบความก้าวหน้าอย่างที่หวังและสุขภาพยังเสื่อมโทรมลงอีกด้วย สรุปก็คือการได้พบว่าความฝันกับความเป็นจริงมีความแตกต่างกันมากโดยเฉพาะการได้พบเรื่องราวเหล่านี้ในช่วงวัยกลางคนนั่นเองที่อาจเป็นตัวการให้คนมีความสุขทางใจลดลงจนกลายเป็น Midlife Crisis เพราะตระหนักดีว่าเรามีเวลาและพลังกายในการแก้ไขความจริงตรงหน้าเหลือน้อยกว่าคนทำงานวัยอื่น


ไม่เพียงแต่เจ้าของกิจการ คนที่มีงานประจำ คนที่ทำงานแบบอิสระหรือ Freelance เท่านั้น อาการ Midlife Crisis นี้อาจเกิดขึ้นได้แม้แต่กับผู้ที่เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน หรือมีกิจวัตรใกล้ชิดกับการเลี้ยงลูกมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งชีวิตของพวกเขาเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนและลูก ๆ เริ่มเติบโตออกไปมีสังคมภายนอกบ้าน ย้ายไปเรียนไปทำงานที่อื่น หรือแม้กระทั่งแต่งงานและแยกบ้านออกไป ทำให้คนที่เป็นพ่อแม่รู้สึกว่าชีวิตบางส่วนว่างเปล่า เกิดความโดดเดี่ยว เคว้งคว้างสับสนในสิ่งที่เคยทำมาตลอดและกำลังจะทำต่อไป ซึ่งอาการเหล่านี้มีชื่อเรียกแยกย่อยออกไปอีกว่า “ภาวะรังที่ว่างเปล่า” (Empty-nest Syndrome) ซึ่งคล้ายกับพ่อแม่นกที่คุ้นเคยกับกิจวัตรการป้อนอาหารลูกในรังมาตลอด คุ้นเคยกับการอาศัยอยู่ในที่เดียวกันและมีกิจกรรมใกล้ชิดด้วยกันอย่างยาวนาน จนกระทั่งวันหนึ่งที่ลูกนกบินได้และบินออกจากรังไปอาศัยที่อื่นจนในรังว่างเปล่าเหลือแต่พ่อแม่นกตามลำพังนั่นเอง


อาการวิกฤตวัยกลางคนนั้นอาจไม่ใช่ภาวะที่เกิดขึ้นกับทุกคนทั้งหมด แต่เมื่อใดก็ตามที่ใครสักคนพบกับประสบการณ์วิกฤตวัยกลางคนสะสมยาวนานถึงระดับหนึ่งและไม่สามารถแสวงหาทางออกที่เหมาะสมให้ตัวเองได้ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนที่สะสมความเครียดในตัวและกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด


ในบทความครั้งหน้านั้นเราจะมาลงรายละเอียดกันว่าอาการที่เรียกได้ว่าน่าจะเกี่ยวเนื่องจากภาวะวิกฤตวัยกลางคนนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อที่ทุกท่านจะได้ใช้เป็นแนวทางในการสำรวจตัวเอง และเราจะพูดถึงการหาทางจัดการควบคุมไม่ให้ภาวะวิกฤตวัยกลางคนนี้รบกวนชีวิตของเราจนนำไปสู่ความเครียดเรื้อรังหรือทำให้เกิดการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตที่ไม่เหมาะสมได้อย่างไรบ้าง



สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

**ท่านที่สนใจสามารถอ่านงานวิจัยและบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่

Blanchflower, D. G., & Oswald, A. J. (2008). Is well-being U-shaped over the life cycle?. Social science & medicine, 66(8), 1733-1749.


Andrew Oswald. (2006) ‘Happiness’ https://www.andrewoswald.com/docs/happinesslancasternov06.pdf


Elliott Jaques, 86, Scientist who coined ‘Midlife Crisis’ https://www.nytimes.com/2003/03/17/us/elliott-jaques-86-scientist-who-coined-midlife-crisis.html

 

ผู้เขียน

ธเนศ เหลืองวิริยะแสง

วิทยากรฝึกอบรมและ HRD Specialist

MSc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University.

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page