top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ทำไมผู้ใหญ่ถึงทารุณเด็ก? ชวนทำความรู้จักกับ Child Abuse เพื่อหยุดวงจรความรุนแรง


“ช่วยเด็ก 10 ขวบถูกทำร้าย-แม่อ้างแค่ทำโทษ”

“พบศพเด็กเสียชีวิตปริศนา ลำตัวมีร่องรอยฟกช้ำ”

“พ่อเลี้ยงและแม้แท้ ๆ ทำร้ายลูกจนซี่โครงหัก”...

การทารุณเด็ก (Child Abuse) เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ และพบได้ในทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีตัวเลขของเด็กที่ถูกทารุณอยู่ไม่น้อย โดยจากตัวเลขของกรมกิจการเด็กและเยาวชนแสดงให้เห็นถึงจำนวนของเด็กไทยที่ถูกทารุณในปี พ.ศ. 2556 – 2563 ว่ามีจำนวน 1,950 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นการถูกทารุณทางร่างกาย รองลงมาเป็นการถูกทารุณทางเพศ และการทารุณทางจิตใจ ซึ่งที่น่าตกใจก็คือคนที่ทารุณเด็กส่วนใหญ่แล้วเป็นคนในครอบครัวหรือคนที่ใกล้ชิดกับเด็กมากกว่าที่จะเป็นคนที่เด็กไม่รู้จัก ในบทความนี้จึงอยากชวนให้ทุกคนทำความรู้จักกับคำว่า “Child Abuse” เพื่อมาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการหยุดวงจรความรุนแรง และช่วยกันทำให้สังคมของเราเป็นสังคมที่ดีต่อใจค่ะ



การทารุณเด็ก (Child Abuse) คืออะไร?


การทารุณเด็ก คือการที่ผู้ใหญ่ทำร้ายเด็กในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

  1. การทารุณทางร่างกาย เช่น ทุบตี หรือกระทำความรุนแรงต่อร่างกายของเด็กจนมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น

  2. การทารุณทางเพศ เช่น ลวนลาม ลูบคลำ ไปจนถึงขืนใจ

  3. การทารุณทางจิตใจ เช่น ตะคอก ดูถูกเหยียดหยาม เย็นชา ทำเหมือนเด็กเป็นอากาศธาตุ

  4. การทารุณทางสุขภาพ เช่น ไม่พาไปรับวัคซีน ไม่พาไปหาหมอเวลาที่เด็กมีอาการป่วย

นอกจากการทารุณทั้ง 4 แบบแล้ว ยังมีรูปแบบของการทำร้ายเด็กอีกแบบหนึ่งก็คือ การทอดทิ้งเด็ก (Neglect) เช่น ทิ้งให้เด็กเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่ตามลำพัง ไม่จัดหาน้ำสะอาดหรืออาหารที่มีประโยชน์ให้เด็ก ให้อยู่ในที่ที่สกปรกไม่ดีต่อสุขภาพของเด็ก ไม่พาไปเข้าโรงเรียนเมื่อถึงวัยอันสมควร เป็นต้น



การทารุณเด็ก (Child Abuse) เกิดขึ้นเพราะอะไร?


คำถามที่ว่า 'ทำไมผู้ใหญ่ถึงทารุณเด็ก' นั้น ไม่มีคำตอบตายตัว แต่นักวิชาการได้กล่าวถึงสาเหตุของการทารุณเด็กไว้อย่างกว้าง ๆ ดังนี้

  • ผู้กระทำเคยมีประวัติถูกทารุณมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก

  • ใช้สารเสพติด

  • มีปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น post-traumatic stress disorder (PTSD)

  • มีความเครียดจากปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาการเงิน ตกงาน ป่วยหนัก

  • ขาดความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของเด็ก ทำให้ไม่สามารถรับมือกับบางพฤติกรรมของเด็กได้อย่างเหมาะสม

  • ขาดทักษะในการรับมือกับความเครียดของตนเอง

  • ไม่มีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือทั้งในส่วนของการช่วยแบ่งเบาในการเลี้ยงเด็ก และในส่วนของความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กที่ถูกต้องเหมาะสม

  • เด็กที่มีความฉลาดมาก ๆ หรือมีภาวะบกพร่องทางร่างกาย จะทำให้ผู้เลี้ยงดูเกิดความเครียดได้มากขึ้น

  • กำลังเผชิญกับวิกฤตชีวิต เช่น มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หย่าร้าง

  • มีปัญหาบุคลิกภาพ เช่น มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ มีความรู้สึกผิดหรือละอายใจอยู่ลึกๆ

นอกจากนั้น ผู้ใหญ่ที่มีแนวโน้มจะกระทำการทารุณเด็ก มักมีลักษณะ ดังนี้

  • ไม่สนใจหรือปฏิเสธที่จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมหรือเด็กมีลักษณะเลี้ยงยาก

  • ใช้คำพูดที่สะท้อนว่าเด็กไม่ได้มีตัวตนหรือคุณค่าในสายตาของผู้เลี้ยงดู

  • เรียกร้องให้เด็กทำในสิ่งที่ผู้เลี้ยงดูอยากทำในวัยเด็กแต่ทำไม่สำเร็จ

  • ขอร้องให้ครูทำโทษเด็กอย่างรุนแรงทุกครั้งที่เด็กทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม

  • ไม่ค่อยกอดหรือแสดงความรักต่อเด็ก

  • แสดงท่าทีเกลียดชังหรือขู่ว่าจะไม่รักเมื่อเด็กไม่ทำตามที่ผู้เลี้ยงดูต้องการ


ผลกระทบจากการทารุณเด็ก (Child Abuse)


เด็กที่ถูกทารุณ จะได้รับผลกระทบในระดับมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ในภาพรวมเด็กอาจะได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ผลกระทบด้านร่างกาย เด็กจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางร่างกายที่ผิดปกติ เนื่องจากการขาดสารอาหาร พิการ เจ็บป่วยบ่อย สำหรับเด็กที่ถูกทำร้ายทางเพศอาจเกิดโรคทางเพศสัมพันธ์หรือตั้งครรภ์ได้

2. ผลกระทบด้านจิตใจ การถูกทำร้ายอย่างรุนแรงหรือเกิดขึ้นเป็นประจำจะทำให้เด็กขาดความอบอุ่น รู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดความหวาดกลัว หวาดระแวงในบุคคลอื่น เกิดอาการซึมเศร้า หวาดผวา ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ประสิทธิภาพในการเรียนลดลง มีปัญหาสุขภาพจิตหรือความเครียดอย่างรุนแรง อาจหันไปพึ่งพาสารเสพติด หรือเกิดแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้ง่าย

3. ผลกระทบด้านพฤติกรรม เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงอาจกลายเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมที่ผิดปกติในอนาคต เช่นแยกตัวออกจากสังคม ต่อต้านสังคม นิยมการใช้ความรุนแรง ซึ่งจะทำให้เป็นผู้ที่ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นไม่ได้ และอาจก่ออาชญากรรมได้


จะสังเกตยังไงว่าเด็กคนไหนมีแนวโน้มถูกทารุณจากผู้ใหญ่?


เด็กที่ถูกทารุณจากผู้ใหญ่ มักมีพฤติกรรมอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีลักษณะ ดังนี้

  • เด็กมีท่าทีหวาดกลัวพ่อแม่อย่างเห็นได้ชัด

  • เด็กบอกว่า “เกลียดพ่อแม่” ของตนเอง

  • เด็กพูดถึงตนเองในลักษณะเกลียดชัง เช่น “ผมมันโง่” “หนูมันเลว”

  • มีวุฒิภาวะทางอารมณ์น้อยกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด เช่น กลายเป็นเด็กที่พูดติดอ่างทั้งที่ก็เคยพูดแบบปกติ

  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น ผลการเรียนลดลงอย่างมาก


ช่วยกันป้องกันปัญหาการทารุณเด็ก (Child Abuse)


การทารุณเด็กไม่ใช่ “เรื่องครอบครัว” เนื่องจากผลกระทบจากการทารุณเด็กนั้นสามารถพัฒนากลายมาเป็นปัญหาสังคมได้ เช่น เด็กที่เคยเป็นผู้ถูกกระทำกลายมาเป็นผู้กระทำ ทุกคนในสังคมจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบทั้งสิ้น หรืออย่างน้อย ข่าวการทารุณเด็กที่เกิดขึ้นก็สร้างความรู้สึกหดหู่ใจและมีผลต่อสุขภาวะทางใจของคนในสังคมไม่มากก็น้อย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันป้องกันปัญหาการทารุณเด็ก ดังนี้

1. ผลักดันให้รัฐสร้างนโยบายส่งเสริมครอบครัว เช่น นโยบายการทำให้สถานที่ทำงานมีลักษณะเป็น Family-friendly ที่พ่อแม่สามารถมีเวลาคุณภาพให้กับลูกได้โดยไม่กระทบต่อการประเมินจ้างงาน

2. เปลี่ยนมุมมองในการเลี้ยงเด็ก แต่เดิมค่านิยม “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” อาจเป็นค่านิยมหลักของสังคมไทย แต่ในปัจจุบัน การตีหรือลงโทษเด็กนั้น นอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังส่งผลเสียมากกว่าผลดีอีกด้วย สังคมจึงควรสนับสนุนให้มีค่านิยมการเลี้ยงลูกเชิงบวก และสร้างความเข้าใจให้กับพ่อแม่ในเรื่องของการเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม

3. เพิ่มคุณภาพในระบบการดูแลเด็ก (Child Care) และระบบการศึกษา มีการตรวจสอบคุณภาพของครูและพี่เลี้ยงเด็กเพิ่มมากขึ้น

4. รณรงค์ให้ความรู้ผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น ให้ความรู้เรื่องการเป็นพ่อแม่ที่ดี

5. จัดโปรแกรมการอบรม เช่น โปรแกรมการดูแลเด็กช่วงปฐมวัย คอร์สการเลี้ยงลูกเชิงบวก


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

บทความแนะนำ

[1] 5 วิธีเยียวยาจิตใจเบื้องต้นตามหลักจิตวิทยา เมื่อลูกถูกทำร้าย

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก. Retrieved from. https://opendata.nesdc.go.th/dataset/d05128e8-481f-4dbc-b908-ab2b2ff19678/resource/359cf10e-5c0a-44b3-a436-738104633cd1/download/1.-..pdf

[2] Understanding the Causes of Child Abuse. Retrieved from. https://www.healthline.com/health/causes-of-child-abuse#definition

[3] Fast Facts: Preventing Child Abuse & Neglect. Retrieved from. https://www.cdc.gov/violenceprevention/childabuseandneglect/fastfact.html

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


 

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page