สร้างสุขในการทำงาน ด้วยความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety)
- Chanthama Changsalak
- Jun 23, 2024
- 2 min read
Updated: Jan 21

เมื่อพูดถึงความสุขในการทำงาน นอกจากปัจจัยด้านรายได้แล้ว ยังมีอีกปัจจัยหลัก ก็คือ ความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) ซึ่งในทางจิตวิทยา หมายถึง ความปลอดภัยทางใจเมื่อเราอยู่ในที่ทำงานหรือองค์กร โดยสมาชิกในองค์กรจะมีความเชื่อร่วมกันว่า องค์กรเป็นที่ปลอดภัย และเพื่อนร่วมงานเป็นดั่งมิตรที่ไว้ใจได้ หากองค์กรไหนมีความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) สูง บุคลากรก็จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้มาก สามารถสร้างผลงาน หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาได้มาก
จากการศึกษาผลงานวิจัยทางจิตวิทยา โดยธารินี เรือนสุภา (2561) พบว่า ข้อร้องเรียน (complaint) ของบุคลากรมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความทุกข์ทางใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) สามารถลดความทุกข์ทางใจของบุคลากรลงได้ และงานวิจัยของ อารียา อุตรศรี และพิมพ์ชนก เครือสุคนธ์ (2565) พบว่า ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม และความเชื่อถือไว้วางใจผู้นำ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ
จากงานวิจัยทางจิตวิทยาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) มีความสัมพันธ์กับความสุขในการทำงานอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ในบทความจิตวิทยานี้ จึงได้รวบรวมปัจจัย และแนวทางการสร้างความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) มาฝากกันค่ะ
มาเริ่มกันที่ปัจจัยที่มีผลต่อความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) กันก่อนนะคะ มี 4 ปัจจัย ดังนี้
1. บริบทสนับสนุนจากองค์กร (Context support)
สมาชิกในองค์กรจะเกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น หากได้รับการสนับสนุนจากองค์กรในทุกด้านอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านงบประมาณ จำนวนบุคลากร ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน รวมถึงการที่ผู้บริหารองค์กรออกหน้ารับผิดและร่วมรับชอบกับสมาชิกในองค์กร เช่นนี้แล้วสมาชิกในองค์กรจะเกิดความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) และสามารถทำงานให้แก่องค์กรได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพอย่างเต็มศักยภาพ
2. การสอนและแนะนำจากผู้บริหารองค์กร (Leader coaching)
ถึงแม้ว่าการเรียนรู้ที่ทำให้สมาชิกในองค์กร “เป็นงาน” มากที่สุด คือ วิธี Learning by Doing แต่การเรียนรู้การทำงานของสมาชิกในองค์กรจะมีความสุขในการทำงานมากขึ้น กดดันน้อยลง หากผู้บริหารองค์กรใส่ใจสละเวลาลงมาสอนและแนะนำในบางงานที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ถึงแม้ว่าจะเสียเวลาในการบริหารงานบ้าง แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้นสุดแสนจะคุ้มค่า เพราะสามารถลดข้อผิดพลาดในการทำงานลงได้มาก งานเสร็จเร็วขึ้น และยังทำให้สมาชิกในองค์กรมั่นใจในการทำงานมากขึ้น
3. ความใส่ใจของผู้บริหารองค์กร (Leader inclusiveness)
ในองค์กรที่ผู้บริหารใส่ใจดูแลสมาชิกในองค์กรอย่างเท่าเทียมกันในทุกระดับ สมาชิกในองค์กรจะรู้สึกปลอดภัยและมีความสุขที่อยู่ในองค์กร มากกว่าองค์กรที่ผู้บริหารปล่อยปละละเลย หรือเลือกปฏิบัติ หรือปล่อยให้สมาชิกดูแลตัวเอง
เพราะการที่สมาชิกองค์กรถูกผู้บริหารละเลยจะทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนถูกลอยแพ เคว้งคว้าง ต้องหาทางเอาตัวรอดจากงานด้วยตัวเอง แต่กับผู้บริหารที่ใส่ใจ สมาชิกองค์กรจะรู้สึกว่าผู้บริหารพร้อมร่วมทุกข์ ร่วมสุข ซึ่งสามารถสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานได้เป็นอย่างดี
4. การมีปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในองค์กร (Member interaction)
หากสมาชิกในองค์กรมีปฏิสัมพันธ์กันน้อย ต่างคนต่างอยู่ ความสัมพันธ์ของสมาชิกในองค์กรก็จะไม่แน่นแฟ้น ความผูกพันกับองค์กรก็จะน้อยตามไปด้วย ส่งผลให้เมื่อองค์กรเกิดปัญหา ทุกคนก็พร้อมแยกวง แต่ถ้าสมาชิกในองค์กรมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกต่อกัน คือ เป็นมิตรกัน สนิทกัน
เมื่อองค์กรประสบปัญหา สมาชิกจะมีความสามัคคีกันในการแก้ปัญหาและสามารถพาองค์กรออกจากปัญหามาได้ และในขณะเดียวกันหากสมาชิกมีปัญหา ทุกคนในองค์กรก็พร้อมช่วยเหลือ ส่งผลให้ทุกคนในองค์กรมีความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) สูง
แนวทางการสร้างความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) 6 แนวทาง ดังนี้ค่ะ
1. สร้างความเท่าเทียมกันในองค์กร
องค์กรที่มีความเท่าเทียม จะเป็นองค์กรที่มีความน่าอยู่ น่าทำงานสูง เพราะทุกคนในองค์กรรู้สึกว่าทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน โดยองค์กรสามารถส่งเสริมความเท่าเทียมได้ง่าย ๆ โดยการรับฟังเสียงของทุกคนในองค์กรอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นในที่ประชุม หรือรับข้อเสนอแนะจากคนในองค์กรผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงมีการให้เกียรติทุกคนทุกระดับ ทุกตำแหน่งอย่างเท่าเทียมกัน บนพื้นฐานความคิดที่ว่า “ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน”
2. ปรับกฎระเบียบให้เหมาะสม
กฎระเบียบขององค์กรที่เอื้อให้เกิดความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) และสามารถสร้างความสุขในการทำงานได้ ต้องมีความยืดหยุ่น ไม่บีบบังคับหรือจำกัดสิทธิของสมาชิกในองค์กรจนเกินไป ควรเป็นกฎระเบียบที่มุ่งสร้างความสงบในการอยู่ร่วมกันในองค์กรอย่างมีความสุข ไม่ใช่ทำให้คนในองค์กรหวาดกลัว อึดอัด คับข้องใจ เพราะยิ่งให้เสรีภาพ ยิ่งสามารถเกิดความคิดสร้างสรรค์ และสร้างความสนุกในการทำงาน
3. ลดระบบอุปถัมภ์ในองค์กร เหตุผลใหญ่ที่ส่งผลให้ข้าราชการไทยเกิดภาวะหมดไฟ ก็คือ “ระบบอุปถัมภ์” ซึ่งระบบนี้มีมานานในสังคมไทย ข้อดีของระบบอุปถัมภ์ คือ คนที่อยู่ในเส้นสายอุปถัมภ์จะมีความปลอดภัยในการทำงานสูง และมีความก้าวหน้าในอาชีพมาก แต่ข้อเสียก็คือ ไม่ใช่ทุกคนที่มีเส้นสาย
นั่นจึงทำให้คนมีความสามารถมากมายถูกละเลย ไม่ได้รับการขึ้นตำแหน่งเท่าที่ควรจะเป็น จนต้องลาออกในที่สุด ดังนั้นหากสามารถลดระบบอุปถัมภ์ในองค์กรลง สร้างความเท่าเทียมในองค์กรมากขึ้น สมาชิกในองค์กรก็จะมีความสุขในการทำงานมากยิ่งขึ้น
4. ลดระบบอาวุโสในองค์กร
นอกจากระบบอุปถัมภ์แล้ว “ระบบอาวุโส” เองก็เป็นอีกหนึ่งตัวร้ายทำลายความมั่นคงปลอดภัยทางใจให้กับสมาชิกในองค์กรอย่างมาก เพราะต่อให้คุณเก่งมาจากไหน ก็ยังแพ้คนอยู่มาก่อน เมื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ก็มอบให้แต่ผู้อาวุโสที่อยู่มาก่อน จนเกิดเป็นแนวคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องทำงานเก่ง แต่อดทนอยู่ให้นาน ก็สามารถขึ้นเป็นหัวนานงานได้ ซึ่งนั้นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์เลยค่ะ เพราะจะส่งเสริมให้คนไม่พัฒนาตัวเอง และทำให้องค์กรกลายเป็นองค์กรที่ล้าสมัย
5. ต้องทำให้สมาชิกองค์กรรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าขององค์กร
การทำให้สมาชิกในองค์กรรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าขององค์กรนั้นสามารถสร้างการได้โดยการสนับสนุนให้สมาชิกในองค์กรมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาองค์กร โดยหลาย ๆ องค์กรก็ใช้วิธีที่เป็นรูปธรรม โดยการให้สมาชิกในองค์กรทุกคนถือหุ้นขององค์กร (Employee Stock Option Program: ESOP) เช่น Airbnb, Apple หรือ GDH เป็นต้น ซึ่งวิธีการเช่นนี้ทำให้สมาชิกองค์กรมีความผูกพันกับองค์กรมาก เพราะเขาไม่ใช่แค่ลูกจ้าง แต่เขาคือเจ้าขององค์กรคนหนึ่งเช่นกัน
6. ผู้บริหารองค์กรต้องยุติธรรม และเข้าถึงง่าย และเทคนิคสุดท้ายในการสร้างความปลอดภัยทางใจในองค์กร (Psychological Safety) ก็คือผู้บริหารองค์กรต้องยุติธรรม และเข้าถึงง่าย เพราะผู้บริหารที่ดูแลทุกคนในองค์กรเสมือนครอบครัว เสมือนญาติพี่น้องอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม จะสร้างขวัญและกำลังใจ รวมถึงความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยยามที่สมาชิกองค์กรทำงานอยู่ในองค์กร และยิ่งถ้าผู้บริหารสามารถเข้าถึงง่ายด้วยแล้ว สมาชิกในองค์กรจะมีความไว้วางใจกล้าเล่าปัญหาให้ผู้บริหารรับทราบ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว เหมาะสม
องค์กรก็เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง ครอบครัวที่สองของคนทำงาน เพราะเราใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตอยู่ที่ทำงาน หากองค์กรดี คนทำงานก็มีความสุข แต่ถ้าองค์กรไม่ปลอดภัย คนก็จะหมดไฟ ทำให้องค์กรเสียบุคลากรคุณภาพไปในที่สุด ถ้าหากคุณบุคลากรหรือองค์กรที่สนใจ ต้องการดูแลสุขภาพใจหรือทักษะด้านจิตวิทยาของพนักงานเพื่อสร้างความสุขในการทำงานให้มากขึ้น สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ >> บริการสำหรับองค์กร
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
1. Thailand Policy Lab Team. (2023, 7 มิถุนายน).ความปลอดภัยทางจิตใจ ปัจจัยหลักของการทำงานเป็นทีม(ที่)เวิร์ค. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2567 จาก https://www.thailandpolicylab.com/psychological-safety/
2. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2020, 13 พฤศจิกายน). Psychological safety – ความปลอดภัยทางจิตใจ.[ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2567 จาก https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/psychological-safety
3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. (2021, 16 กรกฎาคม). ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาในที่ทำงาน (Psychological safety). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2567 จาก https://www2.si.mahidol.ac.th/km/knowledgeassets/kmexperience/kmarticle/17460/
4. ธารินี เรือนสุภา. (2561). ความสัมพันธ์ระหว่างข้อเรียกร้องจากงานกับความทุกข์ทางใจของพนักงานธนาคารของรัฐแห่งหนึ่ง: บทบาทการเป็นตัวแปรปรับของบรรยากาศความปลอดภัยทางจิตสังคมและกลยุทธ์การจัดการแบบมุ่งแก้ปัญหา. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
5. อารียา อุตรศรี และพิมพ์ชนก เครือสุคนธ์. (2565). ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมกับความปลอดภัยทางจิตวิทยาของพนักงานกลุ่มมิลเลนเนียล: บทบาทการเป็นตัวแปรสื่อของความเชื่อถือไว้วางใจผู้นำ. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้