top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

หมดยุคการตีตราเมื่อไปพบจิตแพทย์เท่ากับบ้า แท้จริงเป็นสัญญาณของความเข้มแข็ง



ในสมัยก่อน คนที่มีปัญหาด้านจิตใจไม่ว่าจะเป็นปัญหาในระดับเบื้องต้น เช่น เครียด ปรับตัวไม่ได้ นอนไม่หลับ ไปจนถึงระดับที่มีความเจ็บป่วยทางจิตเวช ก็มักจะคิดแล้วคิดอีกกว่าจะตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ เพราะสังคมมีการตีตราคนที่ไปพบจิตแพทย์ว่า “เป็นบ้า” บางคนก็มีความเชื่อส่วนบุคคลว่าคนที่ไปพบจิตแพทย์เป็นพวกอ่อนแอ คิดไม่เป็น ไม่สู้ชีวิต หรือกังวลว่าจะเสียประวัติ เมื่อมีอาการที่ไม่พึงประสงค์อันเกิดจากปัญหาด้านจิตใจจึงพยายามที่จะปกป้องตัวเองว่า “ฉันไม่ได้บ้า ทำไมถึงต้องไปหาหมอ” ทำให้กว่าจะตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ก็รอจนอาการแย่ไปมากจนทำให้การบำบัดรักษาทำได้ยากขึ้น

การตีตราที่มีปัญหาด้านจิตใจ คืออะไร?

การตีตรา (stigma) เป็นเรื่องของทัศนคติทางสังคมที่หล่อหลอมให้คนในสังคมมีความคิด ความเชื่อ และความรู้สึกต่อพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมไปในทางลบ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือมีการแสดงออกต่อบุคคลที่ถูกสังคมตีตราในทางที่ไม่ดี เช่น พูดให้รู้สึกแย่ มีสายตารังเกียจ กีดกันออกไป ส่งผลให้คนอื่น ๆ ในสังคมเกิดความรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะถูกตีตราหรือเป็นที่รังเกียจของสังคมหากมีพฤติกรรมเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากมีใครคนหนึ่งไปพบจิตแพทย์แล้วถูกเพื่อนร่วมงานนินทาหรือมีสายตาแปลก ๆ คนในออฟฟิศเดียวกันก็อาจจะกลัวว่าหากตนเองไปพบจิตแพทย์บ้างก็อาจจะถูกปฏิบัติแบบนั้นด้วยเหมือนกัน จึงพยายามอดทนเอาไว้ไม่ยอมไปพบจิตแพทย์


ผลกระทบจากการความกลัวที่จะถูกตีตราว่าไปพบจิตแพทย์

  • ผู้ที่มีปัญหาด้านจิตใจพยายามฝืนตัวเอง ไม่ยอมไปพบจิตแพทย์

  • มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะคนรอบข้างไม่รู้ว่าเป็นอะไร จึงไม่เข้าใจว่าบางพฤติกรรมที่รบกวนคนรอบข้างนั้นเกิดจากการมีปัญหาด้านจิตใจ

  • โอกาสในการเรียนหรือการทำงานถูกกระทบ เช่น ถูกพักการเรียน ถูกเลิกจ้างงาน

  • ถูกกลั่นแกล้ง (bully) เพราะบางคนที่มีปัญหาด้านจิตใจอาจจะมีพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ทำให้กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของการกลั่นแกล้งได้


ทำไมการไปพบจิตแพทย์จึงเป็นสัญญาณของความเข้มแข็ง

แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในบางสังคมจะยังมีความเชื่อว่าการไปพบจิตแพทย์คือความอ่อนแอ โดยอาจจะเติบโตในสังคมที่หล่อหลอมว่าคนที่เข้มแข็งจะต้องไม่มีปัญหาด้านจิตใจ และหากมีปัญหาอะไรก็จะต้องแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองอย่างไม่พึ่งพาคนอื่น แต่ในความเป็นจริงนั้นตรงกันข้ามกันเลย โดยการไปพบจิตแพทย์คือสัญญาณของความเข้มแข็งและความกล้าที่จะเปิดเผยจุดอ่อนของตัวเองให้คนอื่นได้รู้ ซึ่งข้อดีของการตัดสินใจไปพบจิตแพทย์นั้นมีดังนี้

  • การไปพบจิตแพทย์จะช่วยให้คุณเข้าใจตนเองมากขึ้น

การไปพบจิตแพทย์ในที่นี้หมายความรวมถึงบริการสุขภาพจิตอื่น ๆ ด้วย เช่น การรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา การทำจิตบำบัด ซึ่งเป้าหมายของกระบวนการบำบัดรักษานั้น ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อให้ผู้รับบริการเข้าใจตนเองมากขึ้น อุปมาเหมือนผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตเป็นคนที่พาผู้รับบริการออกจากที่มืดไปที่สว่าง ออกจากที่แคบไปสู่ที่กว้าง ซึ่งหากผู้รับบริการพยายามคิดหาทางออกด้วยตัวเองตามลำพังอาจจะมองไม่เห็นทางเลือกต่าง ๆ หรือมุมมองใหม่ ๆ ที่ต้องอาศัยคนอื่นมาช่วยไกด์ให้อีกที

  • คนที่ตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากคนอื่นจะต้องก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง

คนที่อ่อนแอมักจะพยายามปกปิดปัญหาของตัวเองเอาไว้ไม่ให้ใครรู้ เพราะมีความกลัวไปต่าง ๆ นานา เช่น กลัวคนอื่นมองไม่ดี กลัวถูกตำหนิซ้ำเติม กลัวถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่เอาไหน เป็นต้น ดังนั้น คนที่ออกมาขอความช่วยเหลือก็คือคนที่ต้องผ่านกระบวนการยอมรับว่าตนเองกำลังประสบปัญหา และต้องเอาชนะความกลัวหรือกังวลว่าคนอื่นจะมองมายังไง

  • การเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่ง่ายที่จะทำด้วยตนเอง

การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจจะง่าย เช่น เปลี่ยนเวลากินข้าว เปลี่ยนสไตล์การแต่งตัว แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างนั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภายในที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางจิตใจที่มีความซับซ้อน หรือการมีแนวโน้มของอาการด้านจิตเวชซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะหายจากอาการได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีจิตแพทย์ให้ความช่วยเหลือ

  • สุขภาพใจมีความสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย

มีบางคนที่พอพูดถึงคำว่า “สุขภาพ” ก็จะนึกถึงแค่ด้านร่างกาย และมักจะไปหาหมอเมื่อมีอาการป่วยทางร่างกายเท่านั้น แต่เมื่อมีอาการปวดหัว นอนไม่หลับ เครียด กระวนกระวาย หรืออาการทางด้านจิตใจต่าง ๆ ก็จะพยายามอดทนเอาไว้แล้วไม่ยอมไปหาหมอ แต่ในความเป็นจริงนั้น การดูแลสุขภาพที่ถูกต้องก็คือการดูแลแบบองค์รวม กล่าวคือ ต้องดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมที่อยู่แวดล้อมรอบตัว

  • การตัดสินใจไปพบจิตแพทย์เท่ากับคุณเอาชนะการตีตราได้เรียบร้อยแล้ว

หากคุณสามารถข้ามผ่านช่วงเวลาที่คุณลังเลว่า “จะไปหาหมอดีมั้ยนะ” “คนอื่นจะมองเรายังไงถ้าเราไปหาหมอ” แล้วตัดสินใจที่จะไปพบจิตแพทย์เพื่อเริ่มต้นดูแลอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง นั่นแสดงว่าคุณสามารถเอาชนะการตีตราที่สังคมปลูกฝังให้มองคนที่ไปพบจิตแพทย์ในเชิงลบได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมันจะดีต่อสภาพจิตใจของคุณได้ส่วนหนึ่ง เพราะในช่วงเวลาที่คุณยังลังเลตัดสินใจไม่ได้นั้น คุณจะต้องต่อสู้กับการตีตราและต้องต่อสู้กับอาการของตัวเองไปพร้อม ๆ กัน หากคุณผ่านจุดนั้นมาได้แล้ว คุณจะรู้สึกโล่งใจไปได้ระดับหนึ่ง

iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


 

อ้างอิง

[1] Mental health: Overcoming the stigma of mental illness. Retrieved from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/mental-illness/in-depth/mental-health/art-20046477

[2] แนวคิดการรณรงค์วันยุติการเลือกปฏิบัติ – กรมควบคุมโรค. Retrieved from https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1160120200219084614.pdf

[3] 5 Reasons Seeking Help for Mental Health Is a Strength, Not a Weakness. Retrieved from https://ajtherapycenter.com/5-reasons-seeking-help-for-mental-health-is-a-strength-not-a-weakness/


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page