Strength-Based Approach เลิกมองหาสิ่งที่บกพร่อง แล้วหันมามองสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเอง

เมื่อพูดถึงมุมมองของสังคมโลกหรือแม้แต่แนวคิดทางจิตวิทยาในยุคที่ผ่านมา เวลาเจอคนที่มีอาการไม่พึงประสงค์ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันจนทำให้รู้สึกทุกข์ใจไม่มีความสุข คนส่วนใหญ่ก็มักจะชวนให้เขามองหาความผิดปกติ แม้กระทั่งเวลาที่อาการเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตัวเองก็มักจะพยายามหาความผิดปกติก่อน ถ้ามองในบริบทของสังคมไทย คนไทยหลายคนก็มักจะมีคำถามว่า “ฉันเป็นบ้าเป็นประสาทรึยัง” และพยายามที่จะค้นหาว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร ชีวิตของตัวเองมีความขาดพร่องอะไร ทำไมฉันถึงเป็นแบบนี้ ซึ่งการมองหาความผิดปกตินั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด เพราะมันเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่จิตแพทย์ซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัยโรคจะต้องทำเป็นอันดับแรก ๆ แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่จิตแพทย์ การพยายามค้นหาว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดนั้นมีอาการผิดปกติอะไร บกพร่องอะไร อาจจะไม่มีประโยชน์มากนัก เพราะนอกจากจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจึงไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำแล้ว การไปมองหาสิ่งที่บกพร่องผิดปกติอาจจะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ไม่ชอบตัวเองมากขึ้นไปอีก ซึ่งหากเป็นผู้ที่มีอาการของโรคทางจิตเวชอยู่แล้ว การไปมุ่งค้นหาว่าตัวเองบกพร่องผิดปกติอะไรอาจทำให้อาการแย่ลงไปกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ไม่ได้จะมาบอกว่าให้คุณเพิกเฉยไม่ทำอะไรกับอาการที่เกิดขึ้น แต่จะมาชวนให้คุณทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิมคือเปลี่ยนจากการไปโฟกัสที่ความบกพร่องผิดปกติ เป็นการมองหาศักยภาพหรือทรัพยากรภายในที่มีอยู่ในตัวบุคคลแทน ซึ่งการมองแบบนี้เรียกว่า “Strength-Based Approach”
Strength-Based Approach มีพื้นฐานแนวคิดว่าตัวบุคคลคือปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีความคิดและอารมณ์เป็นตัวแปรสำคัญ แนวคิดนี้จึงสนับสนุนให้บุคคลมองเห็นศักยภาพหรือข้อดีของตัวเองมากกว่าที่จะโฟกัสกับข้อบกพร่องซึ่งเป็นการมองตัวเองในเชิงลบ เมื่อกล่าวแบบนี้ก็คงเดาได้ไม่อยากว่า Strength-Based Approach เป็นแนวคิดที่อยู่ในกลุ่มของจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) และเป็นแนวคิดพื้นฐานของการช่วยเหลือแบบ Strength-Based therapy หรือ Strength-Based counseling ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้แปลความหมายของ Strength-Based counseling เอาไว้ว่า “การให้คำปรึกษาแบบใช้ความเข้มแข็งเป็นฐาน) ภายใต้ปรัชญาว่า “เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขจุดอ่อน แต่เป็นเรื่องง่ายมากกว่าหากเราเสริมจุดแข็งเพื่อให้ใช้งานได้มากขึ้น” ซึ่งความเข้มแข็งที่กล่าวถึงนั้นมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่
ด้านความคิด วิธีการมองโลกของบุคคล
ด้านสัมพันธภาพ หรือกำลังใจจากคนรอบข้าง
ด้านความสามารถ วิธีการผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคและวิธีการแก้ไขปัญหาของบุคคล
เป้าหมายของการให้ความช่วยเหลือโดยใช้ Strength-Based Approach เป็นพื้นฐาน
ส่งเสริมให้บุคคลมีกรอบความคิดหรือทัศนคติทางจิตใจในทางที่ดีขึ้น
ปลูกฝังให้เกิดมุมมองทางบวกต่อโลกซึ่งจะช่วยให้บุคคลมองตัวเองในทางบวกตามไปด้วย
เอื้อให้บุคคลมองเห็นศักยภาพและทรัพยากรภายในของตัวเอง
ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยอะไรที่ถ่วงรั้งการเติบโตงอกงาม (personal growth) ของบุคคล
ประโยชน์ของการให้ความช่วยเหลือโดยใช้ Strength-Based Approach เป็นพื้นฐาน
การปรับมุมมองจาก “บุคคลมีอะไรบกพร่องที่ต้องแก้ไขรักษา” เป็น “บุคคลมีทรัพยากรอะไรที่สามารถดึงออกมาใช้ได้” ผ่านการให้ความช่วยเหลือแบบ Strength-Based ที่เป็นการให้คำปรึกษาหรือการทำจิตบำบัดจะช่วยให้เกิด resilience ซึ่ง resilience เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลสามารถปรับตัวและฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคหรือแม้แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ โดยไม่ได้เป็นการสร้างทักษะใหม่แต่เป็นการชี้ชวนและขยายโฟกัสให้บุคคลมองเห็นจุดแข็งหรือทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนจึงไม่เคยดึงมันมาใช้ และหากพิจารณาองค์ประกอบของความเข้มแข็งทั้ง 3 ด้านที่กล่าวไปในข้างต้นก็จะพบว่ามันก็คือองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านของ resilience ได้แก่ I am, I have และ I can
Strengths-Based Therapy เหมาะกับใครบ้าง
Strengths-Based Therapy เป็นรูปแบบการบำบัดที่เหมาะกับผู้ที่มี self-esteem ต่ำ มีปัญหาเรื่องความวิตกกังวล มีอารมณ์หดหู่ซึมเศร้า มีปัญหาด้านสัมพันธภาพกับคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัว บุคคลที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น รวมไปถึงการแนะแนวอาชีพ (career counseling) ก็สามารถนำหลักการแบบ Strengths-Based มาใช้ได้เช่นกัน
ตัวอย่างเทคนิคที่ใช้ใน Strength-Based Therapy
แสดงให้เห็นว่าจุดแข็งคืออะไร เป็นอย่างไร โดยอาจจะมีลิสต์ของจุดแข็งรูปแบบต่าง ๆ ให้ผู้รับบริการดูเป็นตัวอย่าง
มองหาจุดแข็งของผู้รับบริการ โดยอาจจะใช้คำถามนำ เช่น “คุณชอบอะไรในตัวเองบ้าง” “ข้อดีของคุณมีอะไรบ้าง”
ใช้การ Re-Framing โดยชวนให้ผู้รับบริการคิดหรือมองสถานการณ์ด้วยมุมมองแบบใหม่
ให้ผู้รับบริการเขียนจุดแข็งของตัวเองออกมาเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ใช้เทคนิคการตั้งคำถามแบบ Strengths Growth Questions เช่น “คุณใช้วิธีอะไรในการผ่านปัญหาใหญ่ ๆ ของชีวิตมาได้”
อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือโดยใช้ Strength-Based Approach เป็นพื้นฐานก็มีสิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือ การมองแง่บวกที่เป็นพิษ (toxic positivity) เนื่องจากวิธีการแบบ Strength-Based จะมุ่งเน้นมองหาจุดแข็งและชวนคิดในทางบวก แต่หากโฟกัสในทางบวกอย่างไม่สมเหตุสมผลหรือไม่สอดคล้องความจริงก็อาจจะกลายเป็นการมองแง่บวกที่เป็นพิษได้ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือโดยใช้ Strength-Based Approach เป็นพื้นฐานจะต้องเป็นบุคคลที่เอื้อให้ผู้รับบริการสามารถค้นพบศักยภาพหรือสิ่งที่เป็นความเข้มแข็งของเขาเอง โดยมีทิศทางเพื่อพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้น กล่าวคือเมื่อพบศักยภาพของตนเองแล้วต้องสามารถดึงมันมาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองได้ ซึ่งจะแตกต่างจากการมองแง่บวกที่เป็นพิษที่จะทำให้ผู้รับบริการเกิดมุมมองว่าตนเองก็ดีอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไร Strength-Based Therapy นั้นมีเป้าหมายสำคัญคือการชี้ชวนให้เห็นจุดแข็งและนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากผู้รับบริการรู้ว่าตัวเองมีอะไรดีหรือมีจุดแข็งอะไรแล้วไม่เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงก็ถือว่าการให้ความช่วยเหลือโดยใช้ Strength-Based Approach เป็นพื้นฐานไม่บรรลุเป้าหมาย ดังนั้น หากคุณต้องการรับความช่วยเหลือแบบ Strength-Based Therapy ก็ควรเลือกผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการรับรองคุณวุฒิ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ที่ผ่านการอบรมฝึกฝนมาโดยตรง
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่

iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] What Is a Strength-Based Approach? (Incl. Examples & Tools). https://positivepsychology.com/strengths-based-interventions/
[2] What Is Strengths-Based Therapy?. https://www.verywellmind.com/strengths-based-therapy-definition-and-techniques-5211679
[3] คลังความรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. https://dmh-elibrary.org/items/show/1444
บทความที่เกี่ยวข้อง
รู้จักกับ “Resilience” เครื่องมือดูแลใจให้ไม่จมดิ่งไปกับความทุกข์
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยา