top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

12 สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังเป็นพ่อแม่ที่เป็นพิษ


คุณทำร้ายลูกอยู่รึป่าว

การเป็นพ่อเป็นแม่นั้น เป็นการฝึกความอดทนขั้นสูงที่จะต้องเสียสละหลายสิ่งเพื่อสิ่งเดียว ที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือลูก ดังนั้นแล้วคนเป็นแม่เป็นพ่อคนไหนก็มีความปรารถนาที่จะเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุดค่ะ ประสบการณ์ไหนที่พ่อแม่ของตัวเองทำไว้ดี เราประทับใจก็อยากจะเลี้ยงดูด้วยวิธีนั้น เพื่อส่งต่อความรู้สึกดี ๆ ให้ลูก และพยายามจะเก็บพวกประสบการณ์แย่ ๆ ที่ได้รับจากการเลี้ยงดูมาไว้ให้ลึกที่สุด โดยตั้งความคาดหวังกับตัวเองว่า “เราจะไม่เป็นพ่อแม่แบบที่เราเกลียด” (อ่านบทความ 6 สิ่งที่พ่อแม่ยุค Thailand 4.0 ควรรู้)



แต่เมื่อเราได้รับความกดดันมาก ๆ ทั้งเรื่องลูกงอแง ลูกดื้อ ลูกเอาแต่ใจ ได้รับความเครียดจากเรื่องงาน มีการกระทบกระทั่งเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อ แม่ และคนในบ้าน ความตั้งใจที่จะเป็นพ่อแม่ที่เพอร์เฟคก็มักจะไม่สำเร็จค่ะ เพราะเราจะหลุด อารมณ์จะนำเหตุผล สิ่งแย่ ๆ ที่เคยได้รับการเลี้ยงดูมาก็ถูกแสดงออกมาโดยไม่ตั้งใจ ทั้งการใช้คำรุนแรงกับลูก การขว้างปาสิ่งของ และหนักข้อไปถึงการลงไม้ลงมือ ซึ่งทำให้พ่อแม่อย่างเรากลายเป็น “พ่อแม่ที่เป็นพิษ (Toxic Parent)” ต่อลูกโดยไม่ตั้งใจ



แล้วผลจาก “พ่อแม่ที่เป็นพิษ (Toxic Parent)” นี่เองที่ทำให้ลูกเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล มีภาวะเครียด จนนำไปสู่โรคซึมเศร้า โรคบุคลิกผิดปกติต่าง ๆ จนเกิดเป็นปัญหาต่าง ๆ ตามมา จนต้องขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาความสัมพันธ์ของพ่อ แม่ ลูก ดังที่พูดถึงไปนั้น ผู้เขียนจึงขอชวนคุณผู้อ่านมาเช็กตัวเองกันดูค่ะว่าเรากำลังเป็น “พ่อแม่ที่เป็นพิษ (Toxic Parent)” โดยได้นำบางส่วนของบทความของ Darlene Lancer ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา เธอที่ได้พูดถึง 12 ลักษณะของ “พ่อแม่ที่เป็นพิษ (Toxic Parent)” มาดูกันนะคะว่าเรามีลักษณะตามนั้นอยู่หรือเปล่า



การเลี้ยงลูก


1.เป็นพ่อแม่ที่แสดงออกเกินความเป็นจริง เช่น เพียงแค่ลูกทำการบ้านไม่เสร็จ โวยวายเหมือนลูกสอบตกต้องซ้ำชั้น หรือลูกขอค่าขนมเพิ่ม ก็โมโหเหมือนลูกขโมยเงินหลักหมื่น เป็นต้น


2.มีพื้นฐานอารมณ์รุนแรง คือ อารมณ์เสียตลอดเวลา หงุดหงิดเป็นปกติ


3.เป็นนักเรียกร้อง ลูกทำเท่าไหร่ก็ไม่พอกับความคาดหวัง ตั้งความคาดหวังต่อลูกไว้สูงเกินความสามารถที่ลูกจะทำได้ และเมื่อลูกทำไม่ได้ก็พร้อมจะซ้ำเติมลูกอยู่ตลอด


4.พยายามควบคุมลูก คิดว่าตัวเองให้กำเนิดลูกแล้วจะเป็นเจ้าของชีวิตลูก ขีดเส้นลูกให้ลูกเดินตามในทุก ๆ ด้าน


5.เป็นนักเปรียบเทียบและวิพากษ์วิจารณ์ ลูกข้างบ้านจะดีกว่าลูกตัวเองเสมอ ลูกทำอะไรคุณจะหงุดหงิด ขวางหูขวางตา เพราะไม่เป็นไปตามที่คุณหวัง


6.ไม่ใส่ใจรับฟังลูกเท่าที่ควร คำพูดลูกมีค่าน้อยกว่าข้อความที่ส่งต่อผ่านกันมาในไลน์


7.เมื่อมีเรื่องผิดปกติในบ้าน เช่น ของหาย มีคนลืมปิดน้ำ ลูกจะเป็นคนผิดเสมอ


8.ดุเก่ง ใช้ถ้อยคำตำหนิลูก จนกลายเป็นวิธีการสื่อสารปกติภายในบ้าน


9.พ่อแม่ไม่เคยผิด พ่อแม่ถูกเสมอ ไม่เคยมีคำขอโทษแม้ว่าจะรู้ตัวว่าผิดก็ตาม


10.ข้ามเส้นความเป็นส่วนตัวของลูก ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ ความคิด และความรู้สึก ไม่ปล่อยให้ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง


11.ละเลยความรู้สึกของลูก สนใจอย่างเดียวคือ ลูกต้องเป็นไปตามที่พ่อ แม่ต้องการ


12.มองว่าลูกเป็นคู่แข่ง โดยเปรียบเทียบลูกกับตัวเองตอนอายุเท่ากัน และแสดงออกอย่างชัดเจนว่ากำลังข่มลูก มองว่าลูกไม่สามารถเท่าเทียมตีวเองได้ โดยจะมีคำพูดติดปากว่า “ตอนแม่อายุเท่าลูกนะ แม่.....”



การเลี้ยงลูก

จาก 12 ข้อด้านบน หากคุณผู้อ่านมีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรือมีครบทั้ง 12 ลักษณะ (ในกรณีเลวร้ายที่สุด) นั้นขอให้คุณผู้อ่านพึงตระหนักและมีสติในการเลี้ยงลูกให้ดีค่ะ เพราะการที่เรากลายเป็นพ่อแม่ที่มีเพียงข้อเดียว หรือมีครบทั้ง 12 ข้อ ก็จะยิ่งผลักให้ลูกจมดิ่งในความรู้สึกว่าโลกนี้ช่างโหดร้าย จะทำให้ความรู้สึกของเขาโดนทำร้ายจากคนที่เขารักที่สุด และควรจะรักเขามากที่สุด ทำให้เขาเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่มีความสุข หรือไม่ก็ต่อต้านสังคม ก้าวร้าวรุนแรงไปเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวมากค่ะ เพราะเรากำลังบ่มเพาะปัญหาสังคมและสร้างอาชญากรน้อยขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นแล้วหากคุณผู้อ่านเข้าข่ายที่จะมีลักษณะเป็น “พ่อแม่ที่เป็นพิษ (Toxic Parent)” ผู้เขียนก็ได้รวบรวมข้อแนะจากนักจิตวิทยามาฝากกันค่ะ



1.มีสติในการเลี้ยงลูกให้สตรอง มีความรู้ตัว และสำนึกรู้ว่ากำลังเลี้ยงลูกแบบไหน รู้ถึงผลของสิ่งที่เรากำลังจะปฏิบัติกับลูกค่ะ (อ่านบทความ 5 วิธีเลี้ยงเด็กยุคอัลฟาเจนอย่างมีประสิทธิภาพ)


2.รู้จักธรรมชาติของเรา เราไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนเรา และต่อให้คุณผู้อ่านมีแฝด ก็กล้าพูดได้เลยว่าไม่มีทางเหมือนกัน 100% เช่นนั้นแล้ว ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน อารมณ์ร้อน อารมณ์เย็น ปากไว หรือเก็บกดความรู้สึก ก็ขอให้พึงระวังว่าธรรมชาติเราจะไปทำร้ายธรรมชาติของลูกเข้านะคะ


3.รู้ทันอารมณ์ การจะเลี้ยงลูกให้ดีนั้น นอกจากจะมี IQ แล้ว คุณผู้อ่านจำเป้นต้องมี EQ ที่แข็งแรงและมั่นคงค่ะ เพราะคุณต้องรับแรงกระแทกและแรงกดดันที่เข้ามาเรื่อย ๆ ไม่หยุดหย่อน ดังนั้นการจัดการกับอารมณ์อย่างฉลาดจึงเป็นเรื่องจำเป็น หากว่าคุณผู้อ่านต้องการจะเป็นพ่อ แม่ที่เป็นมิตรกับลูก พึงตระหนักว่า “ลูกไม่ใช่เรา” อย่าคาดหวังว่าลูกจะทำได้เหมือนเรา และอย่างไปคาดหวังว่าลูกจะเหมือนใคร


4.ใส่ใจลูกให้มากขึ้น ใส่ใจทั้งสิ่งที่ลูกพูด และสิ่งที่ลูกรู้สึกค่ะ


5.ชีวิตลูกเป็นของลูก ไม่ใช่ของเรา เรามีหน้าที่ดูแลและให้ในสิ่งที่ลูกจำเป็นต้องนำไปใช้ในการดูแลตัวเอง นอกนั้นแล้ว เป็นหน้าที่ของลูกที่จะดูแลชีวิตของเขาเอง


6.ยอมรับข้อบกพร่องของลูก เราเองยังเป็นพ่อแม่ที่ไม่สมบูรณ์แบบ แล้วเพราะอะไรลูกถึงจะเป็นลูกที่ไม่สมบูรณ์แบบบ้างไม่ได้ และข้อบกพร่องนี่แหละที่จะทำให้เราเป็น Limited Edition ไม่ใช่ของโหล


7.รู้จักขอโทษ ข้อนี้สำคัญเลยค่ะ คนเราทำผิดพลาดกันได้ และคนที่ผิดและยอมรับผิด จะเป็นคนที่พัฒนาตัวเองได้ก่อนคนที่ยึดมั่นในตัวเองค่ะ


8.เลี้ยงลูกอย่างมีความหวัง แต่อย่าคาดหวังกับลูก ความหวังเปรียบเหมือนเป้าหมายที่เราจะไปถึง แต่ความคาดหวังคือโซ่ที่ล่ามเราไว้ไม่ให้เราไปได้ไกลกว่านั้นค่ะ เพราะฉะนั้นแล้วเรามาเป็นพ่อแม่ ที่เปิดทางสว่างให้ลูก ดีกว่าเป็นพ่อแม่ที่ล่ามลูกไว้ดีกว่านะคะ


9.อยากให้ลูกเป็นแบบไหนก็แสดงกิริยาแบบนั้นกับลูก อยากให้ลูกอ่อนโยน คุณก็ต้องอ่อนโยนกับลูก อยากให้ลูกจริงใจคุณก็ต้องจริงใจกับลูก อยากให้พิมพ์ออกมาแบบไหน เราก็ต้องเป็นแม่พิมพ์แบบนั้นค่ะ


การเป็น “พ่อแม่ที่เป็นพิษ (Toxic Parent)” มีแต่จะยิ่งทำให้ลูกแย่ลงเพราะพิษที่เราส่งให้ และตัวเราเองก็จะแย่ไปด้วยเพราะลูกจะเปลี่ยนไป ดังนั้นแล้วมาแก้สารพิษและเป็นพ่อแม่ที่เป็นมิตรกับลูกด้วยกันนะคะ และหากต้องการปรึกษานักจิตวิทยาเกี่ยวกับด้านการเลี้ยงลูก ปัญหาในครอบครัว ทาง Istrong ของเรามีนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ คอยให้คำปรึกษาคุณผู้อ่านอยู่เสมอค่ะ


 

iStrong ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย

 

อ้างอิง : Darlene Lancer. 12 Signs of a Toxic Parent. [Online].

https://www.psychologytoday.com/us/blog/toxic-relationships/201808/12-signs-toxic-parent

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page