ทักษะการให้คำปรึกษาช่วยเรื่องทำงานของแต่ละอาชีพได้อย่างไร
เมื่อพูดถึง “ทักษะการให้คำปรึกษา” หลายคนอาจจะมีมุมมองว่ามันเป็นทักษะที่มีไว้สำหรับให้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาใช้เท่านั้น หรือบางคนอาจจะมีความเข้าใจว่าการให้คำปรึกษาเป็นการ “ให้” คำปรึกษาแนะนำในลักษณะของการบอกคนที่มาปรึกษาว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร แต่จริง ๆ แล้วทักษะการให้ปรึกษานั้นมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และคนแต่ละอาชีพจะสามารถนำมันมาใช้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในวิชาชีพจิตแพทย์/นักจิตวิทยาได้หรือไม่ บทความนี้มีคำตอบค่ะ
“การให้คำปรึกษา” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “counseling” ส่วนผู้ให้คำปรึกษาจะตรงกับคำว่า “counselor” ซึ่งในบริบทต่างประเทศจะเห็นได้ชัดกว่าประเทศไทยเพราะคำว่า counselor อาจหมายถึงนักให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต สุขภาพกาย การเงิน อาชีพ การเรียนต่อ หรือแม้แต่ทนายความ ดังนั้น ทักษะการให้คำปรึกษาจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวิชาชีพจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเท่านั้น ตรงกันข้าม ทุกอาชีพสามารถนำเอาทักษะการให้คำปรึกษาไปใช้ในการทำงานของตนเองได้ โดยประโยชน์ของทักษะการให้คำปรึกษาที่มีต่อการทำงานมีมากมายหลายประการ เช่น
ช่วยเพิ่มผลิตภาพ (productivity) และผลงาน (performance) ของพนักงาน
ในแต่ละองค์กรจะมีพนักงานที่กำลังอยู่ในสภาวะเครียดสูงหรือหมดไฟซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมขององค์กรทั้งด้านผลิตภาพและผลงาน ในองค์กรจึงควรมีคนที่มีทักษะการให้คำปรึกษาและพื้นที่ที่มีบรรยากาศอบอุ่นปลอดภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานที่ประสบปัญหาส่วนตัว
ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
องค์กรที่พนักงานได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีสุขภาวะที่ดีโดยเฉพาะในด้านสุขภาพจิตมักจะเป็นองค์กรที่เอื้อให้พนักงานเกิดความรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นใจในที่ทำงาน ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งและบรรยากาศตึงเครียดในที่ทำงานลงได้
ช่วยเพิ่มระดับความพึงพอใจในการทำงานให้แก่พนักงาน
การที่มีบุคคลที่มีทักษะการให้คำปรึกษาอยู่ในองค์กรจะช่วยให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจในการทำงานของตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงอัตราการลาออกของพนักงานก็จะลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ คนที่มีทักษะการให้คำปรึกษานั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนที่มีคารมคมคายคุยเก่งเสมอไป เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจของการให้คำปรึกษานั้นไม่ใช่ “การพูด” แต่เป็น “การฟังเพื่อเข้าใจ” และเป้าหมายของการให้คำปรึกษาก็ไม่ใช่การ “แนะนำวิธีการแก้ปัญหา”
แต่เป็นการ “ช่วยเหลือให้ผู้ที่มาปรึกษาสามารถจัดการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง” ผ่านทักษะการให้คำปรึกษา โดยบุคคลในอาชีพต่าง ๆ ก็สามารถนำทักษะการให้คำปรึกษาในระดับเบื้องต้นที่ได้รับจากการอบรมหลักสูตรระสั้นที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญไปใช้เพื่อให้การทำงานของตนเองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหรือเพื่อให้มีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานดีขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น
ฝ่ายบุคคล (Human Resource Management: HR)
แม้ว่าคนเราจะทำงานเพื่อค่าตอบแทนและสวัสดิการซึ่งเป็นแรงจูงใจภายนอกเป็นหลัก แต่ก็มักพบว่าองค์กรที่มีการเสริมแรงจูงใจภายในจะมีอัตราการลาออกของพนักงานน้อยกว่าองค์กรที่มุ่งเน้นแต่การให้ค่าตอบแทนที่สูง ตัวอย่างของแรงจูงใจภายใน ได้แก่ ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าต่อองค์กร งานช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต งานตอบโจทย์ชีวิตแบบ work-life balance ฯลฯ
ฝ่ายบุคคลที่มีทักษะการให้คำปรึกษาโดยเฉพาะทักษะการฟังแบบ active listening จึงมักจะเข้าใจความต้องการของพนักงานและรู้ว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้พนักงานสามารถใช้ศักยภาพในที่ทำงานได้อย่างเต็มที่และเต็มใจโดยไม่เกิดอาการ “ตัวอยู่ที่ทำงาน แต่ใจลาออกไปนานแล้ว”
บุคลากรการแพทย์
เนื่องจากบริบทของสถานพยาบาลมักจะเป็นการให้บริการแก่ผู้ที่มีความทุกข์จากปัญหาสุขภาพ รวมถึงบรรยากาศในการทำงานก็เต็มไปด้วยความเคร่งเครียดกดดัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความเป็นจิตแพทย์ ดังนั้น การที่บุคลากรการแพทย์มีทักษะการให้คำปรึกษาก็จะช่วยลดความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างบุคคลลงได้ ยกตัวอย่างทักษะเช่น การสื่อสารเชิงบวกโดยใช้ “I” message, การเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) ฯลฯ
ที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ
คนที่ต้องรับบทบาทเป็นที่ปรึกษา เช่น ครู ทนายความ ที่มีทักษะการให้คำปรึกษามักจะให้ความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่ขาดทักษะการให้คำปรึกษา เพราะอย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่าทักษะการให้คำปรึกษาไม่ใช่การแนะนำสั่งสอนแต่เป็นการช่วยให้เขาเข้าใจตนเองชัดเจนยิ่งขึ้น การให้คำปรึกษาและการสั่งสอนจึงเป็นคนละสิ่งกัน
งานบริการลูกค้าหรืองานด้านการขาย
ทักษะการให้คำปรึกษานั้นมีประโยชน์กับการบริการลูกค้าด้วยเช่นกัน เพราะการจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้นั้นจะต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่าลูกค้าต้องการอะไร ซึ่งทักษะการให้คำปรึกษา เช่น การฟังอย่างลึกซึ้ง การแสดงพฤติกรรมใส่ใจ การสะท้อนความรู้สึก ฯลฯ จะช่วยให้ลูกค้าได้รับสินค้าหรือบริการที่ตรงใจไปพร้อมกับได้รับความประทับใจ ซึ่งจะเป็นการช่วยรักษาลูกค้าให้กับองค์กรได้ในทางอ้อม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “ทักษะการให้คำปรึกษา” จะเป็นทักษะที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ผ่านการอบรมระยะสั้นได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ผ่านการอบรมจะกลายเป็น “นักจิตวิทยาการปรึกษา (counseling psychologist)” โดยทันที ทั้งนี้ บุคคลที่จะเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาวิชาชีพนั้นจะต้องมีความแม่นยำและเข้าใจทฤษฎีทางจิตวิทยาเป็นอย่างดี
ยกตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่จะเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาจะต้องมีวุฒิการศึกษาด้านจิตวิทยาโดยตรง, ผ่านการเป็นนักจิตวิทยาฝึกหัดภายใต้การ supervision ของผู้เชี่ยวชาญจนครบกำหนดตามมาตรฐาน และต้องผ่านการทดสอบเพื่อขอใบประกอบวิชาชีพ เนื่องจากนักจิตวิทยาการปรึกษานั้นจะทำงานกับจิตใจของผู้คนโดยตรงซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก
ส่วนหลักสูตรการอบรมทักษะนักให้คำปรึกษานั้นจะมีเป้าหมายเพื่อต่อยอดพัฒนางานของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้องค์กรมีผลประกอบการที่สูงขึ้น รวมถึงเพื่อให้ตนเองและบุคคลรอบข้าง เช่น เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือครอบครัวของตนเองมีความสุขและความพึงพอใจต่อชีวิตมากยิ่งขึ้น
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
ความแตกต่างระหว่างไลฟ์โค้ช (Life Coach) กับนักให้คำปรึกษา (Counselor) https://www.istrong.co/single-post/lifecoach-vs-counselor
8 สิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้จากการเป็นนักให้คำปรึกษา https://www.istrong.co/single-post/8-things-you-will-learn-as-a-counselor
อ้างอิง:
[1] Counseling Psychology. Retrieved from https://www.apa.org/ed/graduate/specialize/counseling
[2] จิตวิทยาการปรึกษา. Retrieved from https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/counpsy
[3] Employee Counseling: 5 Reasons Why Everyone Should Have Access. Retrieved from https://www.nivati.com/blog/5-reasons-why-employee-counseling
[4] What Is A Professional Counselor. Retrieved from https://www.counseling.org/about-us/what-is-a-counselor
[5] Work motivation: what it is and why it is important. Retrieved from https://www.betterup.com/blog/work-motivation-the-value-behind-the-task
[6] What moves you? Understanding motivation is your key to success. Retrieved from https://www.betterup.com/blog/types-of-motivation
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comentarios